5 ขั้นตอนการ Sound check ในงานคอนเสิร์ต

บทความ 5 ขั้นตอน การ Soundcheck ในงานคอนเสิร์ต

การ Sound check ในงานคอนเสิร์ต

Soundcheck

ในการทำงานคอนเสิร์ตหรือทำงานระบบเสียง ขั้นตอนที่สำคัญมาก ๆ ในการทำงานก็คือ ขั้นตอนการ Soundcheck ทำไมจึงมีความสำคัญ ที่จะทำให้งานคอนเสิร์ตของเรามีเสียงที่ดี อุปกรณ์ไม่มีปัญหาระหว่างทำการแสดง มีขั้นตอนยังไงบ้าง มาเรียนรู้พร้อม ๆ กันเลยครับ

เช็คความสมบูรณ์ของอุปกรณ์

Soundcheck

การตรวจสอบความสมบูรณ์ของอุปกรณ์ให้อยู่ในสภาพที่พร้อมใช้งาน ก่อนทำการ Sound check (ซาวด์เช็ค) นั้น ถือเป็นเรื่องที่สำคัญอย่างยิ่ง หากอุปกรณ์ไม่พร้อมใช้งาน ไม่มีทางที่จะทำงานสำเร็จลุล่วงได้อย่างแน่นอน

การเช็คอุปกรณ์นั้นต้องไล่ไปตั้งแต่ มิกเซอร์ โปรเซสเซอร์ เพาเวอร์แอมป์ ลำโพง ไมโครโฟน โดยเราแบ่งการเช็คแต่ละอุปกรณ์ได้ดังนี้ 

1.1 มิกเซอร์

มิกเซอร์ ถือได้ว่าเป็นจุดรวมของสัญญาณเสียง การตรวจสอบมิกเซอร์ว่าใช้งานได้สมบูรณ์หรือไม่นั้น ให้ใช้วิธีเสียบไมโครโฟน เพิ่มเกนไมโครโฟนและลองพูดดูว่ามีสัญญาณเสียงเข้าหรือไม่ โดยการใช้หูฟังในการฟังเสียง ตรวจเช็คปุ่มต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น HPF (ไฮพาสฟิลเตอร์), ปุ่ม PAD (แพด), ปุ่ม EQ ทุกย่านความถี่, ปุ่ม Aux, Fader (เฟดเดอร์) ทุกอย่างต้องอยู่ในสภาพที่สมบูรณ์ ไม่มีเสียงผิดปกติ หากเป็นดิจิตอลมิกเซอร์ปัญหาส่วนใหญ่ที่จะเจอคือ Fader (เฟดเดอร์) จะเลื่อนขึ้นลงไม่ตรงตำแหน่ง หรืออาจจะเลื่อนขึ้นลงเองอัตโนมัติ ให้รีบจัดการเปลี่ยนอะไหล่ทันที เพราะจู่ ๆ Fader (เฟดเดอร์) เลื่อนขึ้นลงเองขณะทำการแสดง อาจจะทำให้ระบบเกิดความเสียหายได้

Soundcheck Mixer

1.2 โปรเซสเซอร์

โปรเซสเซอร์ การเช็คเบื้องต้นคือดูว่ามีสัญญาณเข้ามาหรือเปล่า การเลื่อนจุดตัดความถี่มีผลต่อเสียงหรือไม่ โดยส่วนใหญ่ถ้าหากเป็นแบบดิจิตอล แค่เช็คสัญญาณเสียงเข้าออก แค่นี้ก็รู้แล้วว่าอยู่ในสภาพที่ใช้ได้หรือไม่

1.3 เพาเวอร์แอมป์

เพาเวอร์แอมป์ เช็คสัญญาณเข้าออก โวลุ่มต้องไม่มีเสียงแปลกปลอมดังออกมาขณะหมุน ไฟ LED บอกระดับสัญญาณติดครบทุกดวง

Soundcheck Power Amplifier

1.4 ลำโพง

ลำโพง การตรวจสอบลำโพงให้ละเอียดนั้นค่อนข้างจะใช้เวลามากพอสมควร เพราะต้องนำลำโพงมาวัดความถี่ตอบสนองแต่ละใบด้วยโปรแกรม แต่ถ้าหากเราเป็น Sound Engineer ที่ต้องไปใช้ลำโพงจากสถานที่ ก็ใช้ไมโครโฟน RTA ตั้งตรงกลางระหว่างลำโพงทั้ง 2 ข้าง แล้ววัดด้วยโปรแกรม Smaart Live นำกราฟความถี่ทั้ง 2 ข้างมาเปรียบเทียบกัน หากลำโพงทั้ง 2 ข้างนั้นอยู่ในสภาพที่ใกล้เคียงกัน กราฟก็จะไม่แตกต่างกันมาก จากนั้นก็ใช้วิธีการเปิดเพลงฟัง แล้วสังเกตุเสียงทั้ง 2 ข้างว่ามีความต่างกันหรือไม่ ทั้งในเรื่องของความดัง ความถี่ที่ได้ยิน ลำโพงไม่มีเสียงแตกพร่า

Soundcheck Speaker

1.5 ไมโครโฟน

ไมโครโฟน ควรอยู่ในสภาพที่พร้อมใช้งาน แผ่นไดอะแฟรมรับเสียงต้องไม่มีปัญหา ขั้วสัญญาณไม่หลวม วิธีการตรวจสอบ หากไมโครโฟนเป็นชนิดเดียวกัน ให้นำมาพูดสลับกัน โดยตั้งค่าที่มิกเซอร์ให้เหมือนกัน แล้วลองสังเกตุเสียงที่ได้ยินว่ามีความต่างกันหรือไม่ ไมโครโฟนที่ดี ควรให้โทนเสียงและความดังที่ใกล้เคียงกัน โดยที่หูเราไม่สามารถแยกแยะได้

Soundcheck Microphone

Alignment (อะไลน์เม้นท์) ระบบ

Soundcheck Alignment

เมื่อทำการตรวจสอบอุปกรณ์ในระบบเรียบร้อยพร้อมที่จะทำงาน ก็ให้จัดการ Alignment ระบบ โดยเริ่มจากการเช็คระดับสัญญาณ ตั้งแต่สัญญาณขาเข้าไปจนถึงเสียงที่ออกลำโพง โดยปล่อยสัญญาณขาเข้าให้อยู่ที่ระดับ 0dBVU หรือถ้าเป็นอุปกรณ์ในระบบดิจิตอลก็ควรอยู่ที่ -18dBFS และให้สัญญาณอยู่ในระดับนี้ไปจนถึงเพาเวอร์แอมป์ และลองวัดความดังเสียงที่ออกจากลำโพงว่าได้ความดังที่ต้องการหรือไม่ หากความดังไม่พอ อย่างเช่น ปล่อยสัญญาณเสียงที่ระดับ -18dBFS และอยากได้ความดังที่ออกลำโพง 100dB แต่ปรากฏว่าวัดความดังได้แค่ 90dB หากเป็นเช่นนี้ควรเพิ่มลำโพงและเพาเวอร์แอมป์เข้าไปอีกเท่าตัว แทนการเพิ่มระดับสัญญาณให้ได้ความดังที่ต้องการ เพื่อให้อุปกรณ์ไม่เกิดความเสียหายขณะใช้งาน

เตรียมอุปกรณ์เครื่องดนตรีและไมโครโฟน

Soundcheck

หลังจากจัดการ Alignment ระบบเรียบร้อยแล้ว ให้เริ่มจัดการวางเครื่องดนตรีตามตำแหน่งที่เหมาะสม

พยายามหลีกเลี่ยงนำกลองชุดไปวางด้านหลังลำโพง Sub Woofer เพราะจะทำให้เสียงต่ำวนเข้าไปในไมโครโฟนจนเกิดเสียงหอนย่านความถี่ต่ำได้ง่าย

และหากลำโพง Sub Woofer วางเป็นแบบ ซ้ายและขวา อย่าพยายามวางกลองไว้ตำแหน่งตรงกลางที่เกิดความสมมาตร

ให้วางเยื้องมาทางซ้ายหรือขวาประมาณ 1 เมตร จะลดปัญหาเสียงต่ำจาก Sub Woofer เข้าไปกวนได้

ส่วนไมโครโฟนร้องและเครื่องดนตรีนั้นควรหันด้านท้ายของไมโครโฟนให้อยู่ในตำแหน่งรับเสียงที่ไม่ต้องการ เช่น หากตู้กีต้าร์อยู่ใกล้ตู้เบส ให้นำไมโครโฟนหันด้านหลังไปยังตู้เบสเพื่อลดเสียงเบสเข้าไมโครโฟนกีต้าร์ จะช่วยลดปัญหาเรื่องเสียงต่ำของเบสที่เข้าไมโครโฟนกีต้าร์ไปกวนกับเสียงเบสจริง ๆ ได้

ส่วนลำโพงมอนิเตอร์บนเวทีนั้นให้วางหันไปยังตำแหน่งด้านหลังไมโครโฟน อย่าหันเข้าด้านข้างของไมโครโฟน ทั้งนี้ทั้งนั้นควรดูรูปแบบการรับเสียงของไมโครโฟนที่นำมาใช้ว่ารับเสียงแบบไหนเป็นหลัก

ปรับเกนไมโครโฟน

เมื่อจัดวางเครื่องดนตรีและไมโครโฟนเรียบร้อยแล้ว ก็ควรเริ่มปรับเกนไมโครโฟนแต่ละเครื่องดนตรีให้ได้ความดังที่ต้องการ โดยจัดการที่ไมโครโฟนสำหรับนักร้องเป็นอันดับแรก เนื่องจากเสียงร้องสำคัญที่สุด ปรับความดังเสียงร้องตามต้องการ หลังจากนั้นจึงค่อย ๆ ไล่ปรับความดังของเครื่องดนตรีทีละชิ้น จนทุกเสียงมีความดังที่พอเหมาะ มาขาดไม่เกิน ซึ่งเรื่องการจัดความดัง ต้องอาศัยการฝึกฝนทักษะการฟังมาอย่างชำนาญ

จัดบาลานซ์โทนเสียงและความดังโดยรวม

เมื่อบาลานซ์เกนความดังได้แล้ว ก็ถึงเวลาจัดบาลานซ์โทนเสียงโดยรวมด้วย EQ แต่ละช่องสัญญาณ เพื่อให้ความถี่แต่ละความถี่มีความบาลานซ์กัน อย่างเช่น ย่านความถี่เสียงต่ำ เครื่องดนตรีที่เป็นพระเอกคือเบส เราก็จัดความดังย่านเสียงต่ำของเครื่องดนตรีชนิดอื่นอย่าให้มีความดังซ้อนทับกับเสียงเบส ไม่เช่นนั้นแล้ว เสียงต่ำก็จะมีความดังเกินพอดีจนทำให้รู้สึกอึดอัดได้ เช่น ควรตัดเสียงความถี่ต่ำของกีต้าร์ออกไปบ้าง แต่ควรให้อยู่ในระดับตัวโน้ตเสียงต่ำสุดของกีต้าร์

หากอยากรู้ความถี่แต่ละเครื่องดนตรี อ่านได้ในบทความ ความถี่กับการได้ยินของหูมนุษย์

เพียงเท่านี้ก็จะได้เสียงเบสที่มีพลัง ฟังชัด ไม่เบลออีกด้วย

สรุป :

ขั้นตอนการ Sound check นั้นเป็นการออกแบบการทำงานของแต่ละบุคคล ซึ่งโดยส่วนใหญ่แล้วในการทำงานคอนเสิร์ตของผมนั้น มักจะใช้วิธีที่กล่าวมาข้างต้นเป็นหลัก ส่วนใครอยากลองหาวิธีการทำงานเป็นแนวทางของตัวเองนั้น ต้องลองศึกษาและลงมือทำ เพื่อให้ตัวเองนั้นทำงานได้ง่ายที่สุด

สิ่งสำคัญมากกว่ากระบวนการทำงานนั่นคือ ผลลัพธ์ของงานที่ประสบความสำเร็จครับ

อยากเป็น Sound Engineer เริ่มต้นอย่างไร?

ทรงพล แจ่มแจ้ง

Sound Engineer ได้ค่าจ้างต่องานเท่าไหร่?​

ทรงพล แจ่มแจ้ง

เรามีบทความดีๆเกี่ยวกับ การไลฟ์สดด้วย สามารถอ่านเพิ่มได้ที่ [วิธีจัดเตรียม]อุปกรณ์ไลฟ์สด

Live For Sound รับออกแบบ ติดตั้ง จำหน่าย ระบบเครื่องเสียงห้องประชุมพร้อมบริการหลังการขายแบบครบวงจร ด้วยทีมงานระดับมืออาชีพ มาตรฐานสากล สามารถอ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับการติดตั้งได้ที่ 

โทรศัพท์ 02-550-6340, 064-198-2499
Line : @liveforsound
Email : [email protected]

บทความโดย: ทรงพล แจ่มแจ้ง (SOUND ENGINEER)

รับติดตั้งระบบเสียง ห้องประชุม ร้านอาหาร ผับบาร์ ห้องคาราโอเกะ ห้องจัดเลี้ยง ระบบเสียงสนามกีฬา ระบบเสียงร้านกาแฟ สามารถปรึกษาทางทีมงาน LIVE FOR SOUND ได้ พร้อมรับตรวจเช็ค แก้ไขปัญหาระบบเสียงทุกรูปแบบ โดย ทรงพล แจ่มแจ้ง และทีมงานมืออาชีพ ที่มีประสบการณ์มากกว่า 15 ปี

สอบถามข้อมูลการติดตั้งได้ทาง