Polar Pattern
วันนี้ Live For Sound จะพามารู้จักกับคำว่า Polar Pattern กันนะครับ แล้ว Polar Pattern คืออะไร แล้วสำคัญยังไง Polar pattern คือหนึ่งในสิ่งที่เราจะเห็นได้ตลอดเวลาเลือกซื้อไมโครโฟนและบางคนอาจจะสงสัยว่ามันคืออะไร วันนี้ Live For Sound มีคำตอบมาให้แล้วครับ
Polar pattern คือรูปแบบการรับเสียงของไมโครโฟนที่จะช่วยให้รู้ว่าไมค์แต่ละตัวนั้นสามารถรับเสียงที่มาจากทิศทางไหนได้บ้าง อีกทั้งยังช่วยให้เลือกใช้ไมค์ได้ถูกประเภทกับงานที่เราทำได้อีกด้วยครับ วันนี้เรามาดูกันดีกว่าว่า Polar pattern ทั้ง 7 แบบนั้นมีอะไรบ้าง

Cardioid

เป็นรูปแบบการรับเสียงจากด้านหน้าเป็นหลัก เสียงจากด้านข้างจะรับได้น้อยลง ส่วนด้านหลังของไมโครโฟนตรงด้ามจับเสียงจะรับได้น้อยมาก หรือแทบไม่รับเสียงเลย เป็นรูปแบบการรับเสียงที่นิยมใช้กันมากที่สุด เนื่องจากมีความสามารถในการลดเสียงรบกวนรอบข้างได้ดีจึงเหมาะแก่การใช้ในงานบนเวทีการแสดงทั้งเล่นดนตรี งานละคร งานพูดบรรยาย และงานบันทึกเสียงในห้องสตูดิโอ ไมโครโฟนยอดนิยมที่ใช้รูปแบบการรับเสียงแบบ Cardioid ได้แก่ Shure SM58, Sennheiser e935, AKG D5C

Supercardioid

เป็นรูปแบบการรับเสียงทั้งด้านหน้าและด้านหลังของไมค์แต่จะมีประสิทธิภาพในการรับเสียงด้านหน้ามากกว่าด้านหลัง จะรับเสียงด้านข้างได้น้อยมาก มีรูปแบบการรับเสียงด้านหน้าที่แคบกว่าแบบ Cardioid เป็นรูปแบบที่มีความคล้ายกับ Cardioid แต่จะเพิ่มความสามารถในการรับเสียงจากด้านหลังเข้ามา และด้านข้างจะรับเสียงได้แคบกว่าแบบ Cardioid เหมาะสำหรับงานที่ต้องการลดเสียงรบกวน เช่น เล่นดนตรีภายในร้านอาหารขนาดเล็ก หรือแม้แต่ขึ้นเวทีใหญ่ก็สามารถลดสียงรบกวนได้ดี
ไมโครโฟนรุ่นยอดนิยมที่มีการรับเสียงแบบ Supercadioid ได้แก่ Shure Beta58, EV ND86, EV PL44

Hypercardioid

มีลักษณะการใช้งานคล้ายกับ Supercardioid แต่สิ่งที่แตกต่างกันคือ Hypercardioid จะมีการรับเสียงทางด้านข้างได้แคบกว่า (เสียงด้านข้างเข้าน้อยลงไปอีก) แต่การรับเสียงจากด้านหลังจะสามารถรับได้มากกว่า ซึ่งก็เป็นข้อดีข้อเสียกันคนละอย่าง การใช้งานไมโครโฟนแบบ Supercardioid และ Hypercardioid หากใช้ในการบันทึกเสียงในห้องหรือสตูดิโอ ต้องระมัดระวัง เสียงที่สะท้อนมาจากทางด้านหลัง ซึ่งอาจทำให้เกิดเสียงก้องมากกว่าแบบ Cardioid ไมโครโฟนแบบ Hypercadioid ยอดนิยมได้แก่ Audio Technica ATM650

Omnidirectional

เสียงจะถูกรับอย่างเท่าเทียมกันจากทุกทิศทางรอบ ๆ มีการตอบสนองความถี่เสียงที่กว้างและชัดเจน การรับเสียงรูปแบบนี้จะรับเสียงได้กว้างจึงจะทำให้มีเสียงรบกวนเข้ามาได้ง่าย และอาจจะเกิดอาการไมค์หอน (Feedback) จึงเหมาะกับการใช้บันทึกเสียงที่ต้องการความกว้างของเสียงแบบ 360 องศา

Shotgun

เป็นรูปแบบที่มีการรับเสียงในทิศทางเฉพาะเจาะจงได้มากที่สุดโดยทิศการรับเสียงจะพุ่งตรงออกไปยังเป้าหมาย ส่วนใหญ่ใช้ในการรับเสียงเฉพาะจุดที่ต้องการจากที่ไกล ๆ เช่นจับเสียงพูดของนักแสดงหรือรับเสียงที่เกิดขึ้นในสนามกีฬา การรับเสียงบรรยากาศ เป็นต้น

Subcardioid

เป็นการผสมกันระหว่าง Omnidirectional กับ Cardioid เหมาะสำหรับรับเสียงที่มีการเคลื่อนที่ไปมาตลอดแต่ยังคงอยู่บริเวณหน้าไมโครโฟนอยู่

Bi-directional

รูปแบบการรับเสียงที่ได้ทั้งด้านหน้าและด้านหลังดี แต่การรับเสียงจากด้านข้างจะได้น้อยมากหรือไม่ได้เลย รูรับเสียงจะแคบกว่าแบบ Super cardioid แต่จะเพิ่มความสามารถในการรับเสียงด้านหลังเข้ามาให้เท่ากันด้านหน้า 90 องศา กว้าง 90 องศาเท่ากัน เหมาะกับใช้บันทึกเสียงร้อง งานสัมภาษณ์ งานวิทยุ หรือบันทึกเสียงเครื่องดนตรีที่ต้องการเสียงบรรยากาศโดยรอบด้วย
สรุป :
Polar Pattern คือ รูปแบบการรับเสียงของไมโครโฟนนั่นเองครับ ที่จะเป็นตัวช่วยให้งานของคุณนั้นออกมาได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด หวังว่าบทความนี้จะช่วยให้หลาย ๆ คนสามารถเลือกซื้อไมโครโฟนกันได้ตรงตามวัตถุประสงค์ของการใช้งานของแต่ละคนไม่มากก็น้อยนะครับ
สนใจไมโครโฟนทุกรุ่น สามารถติดต่อมาได้ที่ Live For Sound เรามี Sound Engineer ผู้เชี่ยวชาญคอยให้คำปรึกษาเรื่องของการใช้งานไมโครโฟนที่ถูกต้องคอยบริการทุกท่านอยู่ครับ
หรือ สนใจสินค้าระบบเสียงสามารถสอบถามได้ที่
โทรศัพท์ 02-550-6340, 064-198-2499
Line : @liveforsound
Email : sale@liveforsound.com
บทความโดย: ทรงพล แจ่มแจ้ง (SOUND ENGINEER)