Home » ติดตั้งลำโพงห้องประชุมอย่างไร ให้เสียงดีฟังชัดเจน

ติดตั้งลำโพงห้องประชุมอย่างไร ให้เสียงดีฟังชัดเจน

by admin
165 views
1.ติดตั้งลำโพงห้องประชุมอย่างไร ให้เสียงดีฟังชัดเจน

การติดตั้งลำโพงห้องประชุม

อุปกรณ์ระบบเสียงห้องประชุมนั้น จำเป็นต้องมีการจัดวางตำแหน่งที่ดี นอกจากความสวยงามในการจัดวางแล้ว คุณภาพเสียงที่ได้ต้องดีอีกด้วย และการเลือกลำโพงมาใช้ในห้องประชุมนั้นเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง แต่การจัดวางตำแหน่งลำโพงในห้องประชุมนั้นกลับสำคัญยิ่งกว่า หากเราวางตำแหน่งลำโพงผิดแม้แต่นิดเดียว จะมีผลทั้งคุณภาพความคมชัดของเสียง การทำให้ความดังไม่ทั่วถึง และจะทำให้ไมโครโฟนมีเสียงหวีดหอน หรือ Feedback (ฟีดแบ็ค) ได้ ตำแหน่งติดตั้งลำโพงจึงมีส่วนสำคัญอย่างมากสำหรับห้องประชุม

การติดตั้งลำโพงห้องประชุมนั้น ติดตั้งตำแหน่งไหนได้บ้าง แต่ละตำแหน่งนั้นมีผลอย่างไรต่อเสียงที่ได้ยิน รวมถึงปัญหาต่างๆ ของการติดตั้งลำโพงห้องประชุม เรามาเรียนรู้และทำความเข้าใจกันเลยดีกว่า

2.ติดตั้งลำโพงตำแหน่งด้านหน้าห้องนิยมใช้กับห้องประชุมที่ใช้ชุดไมโครโฟนประชุม

1. ติดตั้งลำโพงตำแหน่งด้านหน้าห้อง

การติดตั้งลำโพงตำแหน่งนี้ ส่วนใหญ่แล้วจะนิยมใช้กับห้องประชุมที่ใช้ชุดไมโครโฟนประชุม และขนาดห้องไม่ใหญ่มาก หากห้องประชุมมีขนาดใหญ่เกิน 15 เมตร และใช้ชุดไมโครโฟนประชุมด้วย ไม่แนะนำให้ติดลำโพงในลักษณะนี้ เนื่องจากตามกฎฟิสิกส์แล้ว เสียงจะลดทอนความดังลง 6dB ในระยะทางที่เพิ่มขึ้น 2 เท่า เช่น จาก 4 เมตร เป็น 8 เมตร หรือ 8 เมตร เป็น 16 เมตร ในเรื่องของความดังที่ลดลงในห้องที่ใหญ่ขึ้น เราสามารถจัดการได้ด้วยการเพิ่มลำโพงที่เรียกว่า ลำโพงดีเลย์ด้านหลัง แล้วทำการปรับจูนเวลาในการเดินทางของเสียงให้มาพร้อมกัน

แต่ปัญหาอยู่ตรงที่ถ้าห้องใหญ่มากๆ เสียงจากลำโพงด้านหน้าและลำโพงดีเลย์จะเดินทางมาถึงช้ากว่าเสียงที่ออกจากปากแล้วไปที่ไมโครโฟน จึงทำให้เกิดปัญหาเวลาพูดกับเสียงที่ออกจากลำโพงมาไม่พร้อมกัน ทำให้คนพูดเกิดความสับสนได้ โดยส่วนใหญ่แล้วการจัดวางลำโพงในลักษณะนี้ จะเหมาะกับห้องประชุมที่เป็นการพูดหรือบรรยายอยู่หน้าห้องมากกว่า ไม่เหมาะกับห้องประชุมที่ใช้ไมโครโฟนชุดประชุมเป็นอย่างยิ่ง

3.ติดตั้งลำโพงด้านข้าง นิยมติดตั้งใช้กับห้องประชุมที่ใช้ไมโครโฟนชุดประชุม

2. ติดตั้งลำโพงด้านข้าง

การติดตั้งลำโพงด้านข้างห้องประชุม นิยมติดตั้งใช้กับห้องประชุมที่ใช้ไมโครโฟนชุดประชุม หรือห้องประชุมที่มีขนาดไม่กว้างมาก แต่มีขนาดที่ค่อนข้างลึกและเพดานสูง การติดตั้งลำโพงแบบนี้ข้อดีคือ ไม่เกิดการดีเลย์ของเสียงพูดกับเสียงที่ออกมาจากลำโพง ติดตั้งง่าย ให้ความดังที่กระจายทั่วถึงทุกพื้นที่ และยังเหมาะกับห้องที่มีเสียงก้องเสียงสะท้อนสูง เพราะตำแหน่งลำโพงสามารถทำมุมไม่ให้เสียงไปกระทบกับผนังฝั่งตรงข้ามแล้วสะท้อนกลับมา

การติดตั้งลักษณะนี้ไม่เหมาะกับห้องที่เป็นเพดานต่ำและห้องที่มีขนาดความกว้างมากๆ เพราะจะสามารถควบคุมความดังได้ลำบากมากๆ ทำให้เสียงที่แต่ละพื้นที่มีความดังที่ต่างกันพอสมควร อีกทั้งยังไม่เหมาะกับห้องประชุมที่ต้องการใช้ระบบเสียงแบบ Stereo เหมาะกับห้องที่ใช้เสียงพูดเป็นหลักเท่านั้น และการติดตั้งแบบนี้ต้องเข้าใจเรื่องของการปรับแต่งเสียงเป็นอย่างดี ไม่เช่นนั้นจะทำให้เสียงเกิดการ Feedback (ฟีดแบ็ค) หรือ เสียงหอนได้

3. ติดตั้งลำโพงด้านบนเพดาน

การติดตั้งบนเพดานนั้น นอกจากเน้นความสวยงามที่ไม่ต้องการให้เห็นลำโพงระเกะระกะแล้ว ยังช่วยให้เสียงนั้นกระจายได้ทั่วถึงพื้นที่อีกด้วย ไม่ต้องกังวลในเรื่องของความดังและความชัดเจนของเสียง เหมาะกับห้องที่เป็นเพดานไม่สูงมาก สามารถควบคุมเสียงสะท้อนได้ดี

ข้อเสียของการติดตั้งแบบนี้คือ ไม่เหมาะกับห้องประชุมที่เป็นเพดานสูง เพราะลำโพงเพดานโดยส่วนใหญ่จะให้ความดังที่ไม่สูงมาก จึงเหมาะกับห้องที่มีเพดานต่ำ อีกทั้งต้องระวังเรื่องของเสียงไมค์หอน ต้องมีความสามารถในการปรับแต่งเสียงมากพอสมควร

4. ติดตั้งลำโพงด้านหน้าและด้านหลัง

การติดตั้งลำโพงด้านหน้าและด้านหลังแบบหันหน้าเข้าหากัน เหมาะกับห้องประชุมที่งบประมาณไม่สูงมากนัก เนื่องจากประหยัดลำโพง เหมาะกับห้องขนาดเล็ก ไม่เกิน 15 เมตร

ข้อเสียของการติดตั้งลำโพงลักษณะนี้ คือ ความชัดเจนของเสียงแต่ละพื้นที่จะไม่เท่ากัน เนื่องจากระยะทางของเสียงและความถี่ของเสียงมีเฟสที่ไม่ตรงกันในแต่ละพื้นที่ จึงทำให้คุณภาพเสียงไม่เหมือนกัน และยากแก่การปรับแต่งเสียงเป็นอย่างยิ่ง แทบจะไม่สามารถปรับแต่งเสียงให้แต่ละตำแหน่งมีเสียงที่ใกล้เคียงกันได้เลย

5. ติดตั้งด้านหน้าและบนเพดาน

การติดตั้งลำโพงลักษณะนี้ เหมาะกับห้องประชุมขนาดใหญ่ ที่มีรูปแบบการประชุมที่หลากหลาย นิยมใช้กันมากในห้องประชุมที่เป็นในรูปแบบ Multifunction สามารถปรับเปลี่ยนการใช้งานได้หลากหลาย

ข้อเสียคือ ต้องเลือกใช้ตำแหน่งลำโพงตำแหน่งใดตำแหน่งหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถเปิดลำโพงพร้อมกันทั้งด้านหน้าและบนเพดานได้ เพราะเสียงจะเดินทางมาไม่พร้อมกัน ทำให้เกิดเสียงที่ฟังเป็น 2 ตำแหน่ง อีกทั้งต้องใช้งบประมาณเยอะกว่าทั้ง 4 แบบ การปรับแต่งเสียงให้ลำโพงด้านหน้าและด้านบนมาพร้อมกันนั้น สามารถทำได้ แต่ก็จะเจอปัญหาลำโพงตำแหน่งอื่นๆ อีก จึงมักจะนิยมแยกกันใช้งานกัน

สรุป 

การติดตั้งลำโพงในห้องประชุมนั้น ต้องให้ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบเสียงเช่นวิศวกรเสียง หรือ Sound Engineer (ซาวด์เอ็นจิเนียร์) เป็นผู้คำนวณตำแหน่งติดตั้ง  จะสามารถได้ตำแหน่งที่แม่นยำ การจะติดตั้งแบบไหนนั้น ขึ้นอยู่กับขนาดห้อง การใช้งาน สภาพอคูสติคหรือเสียงก้องสะท้อนภายในห้องเป็นหลัก ไม่สามารถนำรูปแบบการติดตั้งลำโพงจากอีกที่มาใช้กับอีกที่ได้ ให้ผู้เชี่ยวชาญเป็นผู้ออกแบบติดตั้งลำโพง จะเป็นการที่แก้ปัญหาได้ตรงจุดที่สุด


สนใจออกแบบติดตั้งระบบเสียงห้องประชุม สามารถติดต่อได้ที่

  • เบอร์ 02-550-6340 หรือ 064-198-2499
  • Email sale@liveforsound.com
  • Line @liveforsound

ทางเรายินดีให้คำปรึกษาและออกแบบระบบเสียงห้องประชุมให้ท่านตามหลักวิทยาศาสตร์ที่แท้จริง Live For Sound รับออกแบบ ติดตั้ง จำหน่าย ระบบเครื่องเสียงห้องประชุมพร้อมบริการหลังการขายแบบครบวงจร ด้วยทีมงานระดับมืออาชีพ มาตรฐานสากล

เรื่องที่คุณอาจสนใจ

เว็บไซต์รวมบทความด้านความปลอดภัยในการทำงาน ที่ทำให้คุณเข้าใจและปฏิบัติงานอย่างมั่นใจมากยิ่งขึ้น

ติดต่อ

Copyright @2023 – All Right Reserved. Designed and Developed by  cbdoilforsalecoupon