Reverb คืออะไร พร้อมแนะนำวิธีปรับ

Reverb นั้นสำคัญไฉน?

       เชื่อเหลือเกินว่าซาวด์เอ็นจิเนียร์นักมิกซ์เสียงทุกท่านน่าจะคุ้นเคยกับเอฟเฟค Reverb กันเป็นอย่างดี โดยเฉพาะในดิจิตอลมิกเซอร์หลาย ๆ รุ่น หลาย ๆ แบรนด์ในปัจจุบัน ล้วนใส่เอฟเฟค Reverb มาให้อย่างหลากหลายจนเลือกใช้กันไม่หวาดไม่ไหว ถือว่าให้กันมาสาสมใจนักมิกซ์เสียงกันเลยทีเดียว วันนี้ก็เลยจะลองหยิบเอาเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยเกี่ยวกับ Reverb มาแบ่งปันกันนะครับ

       จริง ๆ แล้วเอฟเฟค Reverb ที่เราใช้ ๆ กันในการมิกซ์ดนตรีสดเนี่ย มันก็คือการเลียนแบบพฤติกรรมของการสะท้อนเสียงที่มีอยู่ในธรรมชาตินั่นแหล่ะ เป็น Algorithmic Reverb ที่ใช้หลักคณิตศาสตร์มาคำนวณเพื่อสังเคราะห์เสียงขึ้นมา ซึ่งเสียงก็จะแตกต่างกันไปตามอัลกอริทึ่มของเอฟเฟคนั้น ๆ เอาที่เราคุ้นเคยกันมาก ๆ ก็อย่าง เช่น Room Reverb จำลองเสียงของห้องขนาดเล็ก Hall Reverb จำลองเสียงของห้องขนาดกลางและขนาดใหญ่ เป็นต้น

       เอฟเฟค Reverb แต่ละประเภท จะมีปุ่ม Parameters (พารามิเตอร์) ต่าง ๆ ให้ปรับแตกต่างกัน แต่ถึงแม้ในแต่ละปลั๊กอินจะมีการออกแบบหน้าตาที่ต่างกัน แต่หากเราเข้าใจหลักการทำงานของ Reverb โดยรวมแล้ว ก็จะสามารถทำความเข้าใจเอฟเฟคเหล่านั้นได้อย่างรวดเร็ว ในบทความนี้จะขอแนะนำ 2 Parameters (พารามิเตอร์) ที่เรามักจะพบเป็นลำดับแรก ๆ ของทุกเอฟเฟคเลยก็ว่าได้ ซึ่งบางคนอาจจะเคยลองปรับ บางคนคนอาจจะยังไม่เคยลอง มันคือปุ่มอะไร เรามาทำความรู้จักไปพร้อม ๆ กันเลยนะครับ

2 Parameters ที่ควรรู้

       1. Pre-delay (พรีดีเลย์) หรือ Reverb Delay (รีเวิร์บดีเลย์) มีหน่วยเป็นมิลลิวินาที (ms) ที่นิยมเรียกว่า Millisecond (มิลลิเส็คคัล) นั่นแหละครับ หมายถึงช่องว่างระหว่างเสียงจริงกับเสียง Reverb ยกตัวอย่างเช่น หากกำหนดค่า Pre-delay ที่ 1 s หรือ 1,000 ms เมื่อมือกลองตีสแนร์ 1 ครั้ง คุณจะได้ยินเสียงจริงของสแนร์ก่อน จากนั้นเสียง reverb ของสแนร์จะตามมาในอีก 1 วินาทีนั่นเอง

       แล้วเราควรจะปรับยังไงดี สำหรับหลายคนที่ไม่ยังเคยปรับ Parameters (พารามิเตอร์) นี้ เรามีเทคนิคมาแนะนำครับ ปกติแล้ว Pre-delay สั้น ๆ จะเหมาะสำหรับการเพิ่มเนื้อเสียงให้กับเครื่องดนตรีให้จังหวะ เช่น กลองชุด เพราะเสียง Reverb จะไปรวมกับเสียง Direct sound ทำให้เนื้อเสียง (โดยเฉพาะเสียงสแนร์) มีความหนายิ่งขึ้น ส่วน Pre-delay ที่ยาวจะเหมาะกับสิ่งที่เป็นเสียงหลักของวง เช่น เสียงนักร้องนำ หรือเสียงกีตาร์โซโล่ เพราะจะเหลือที่ว่างพอที่จะไม่ให้เสียง Reverb มาทับกับเสียงจริง ทำให้ได้ยินสียงหลักพุ่งชัด โดยมีเสียง Reverb เป็นแบ็คกราวด์ตามมา

       การปรับ Pre-delay สามารถสร้างความเป็นมิติขึ้นมาในการมิกซ์ได้ เช่น หากคุณตั้งค่า Pre-delay ยาว ๆ ใน Reverb ของเอฟเฟคนักร้องนำ เมื่อนักร้องร้องเพลง คุณจะได้เสียงเสียงนักร้องก่อน และเสียง Reverb ตามมาทีหลังเหมือนเสียงเดินทางไปจนสุดเวทีแล้วสะท้อนกลับทีหลัง เราจึงรู้สึกว่านักร้องอยู่ใกล้ที่สุด และหากเราตั้งค่า Pre-delay ที่สั้นกว่าในเสียงเครื่องดนตรี  เสียงที่ได้ยินก็จะเหมือนนักร้องนำยืนอยู่หน้าสุด โดยมีนักดนตรียืนเล่นในตำแหน่งการยืนรอง ๆ ลงไปนั่นเอง  เท่านี้คุณก็สามารถสร้างมิติการมิกซ์ของคุณได้แล้ว

       2. Decay (ดีเคย์) หรือ Reverb Time (รีเวิร์บไทม์) คือความยาวของเสียงเอฟเฟคชนิดนั้น ๆ โดยพื้นฐานแล้ว การตั้งค่า Decay จะขึ้นอยู่กับจังหวะของเพลงเป็นหลัก หางเสียงของ Reverb ไม่ควรยาวจนเกินหนึ่งห้องเพลง เพราะมันจะไปบดบังจังหวะหลัก (downbeats) ของห้องเพลงต่อไปจนทำให้เสียงจริงขาดความคมชัดได้ ดังนั้นในเพลงช้า ๆ เราสามารถกำหนดค่า Decay ในเอฟเฟคให้ยาวเพื่อเพิ่มเสน่ห์ได้ ในขณะที่เป็นเพลงเร็วเราควรกำหนดค่า Decay สั้น ๆ เพื่อลดโอกาสที่หางเสียงของ Reverb จะไปทับจังหวะหลักของห้องต่อไปจนเพลงขาดความชัดเจนได้นั่นเองครับ

       วิธีการคิดหาค่า Decay คือ นำตัวเลข 60,000 ตั้งแล้วหารด้วย Tempo หรือจังหวะของเพลง ยกตัวอย่างเช่น เพลงที่จะใส่รีเวิร์บมีจังหวะความเร็วอยู่ที่ 120BPM ก็นำ 120 ไปหาร 60,000 ก็จะเหลือ 500 ตัวเลขที่ได้นั่นคือความยาวของโน้ตตัวดำ มีค่า 500ms ใน 1 ห้องเพลงปกติเราก็จะมีโน้ตตัวดำได้ 4 ตัว ก็นำ 4 ไปคูณกับ 500 จะได้ผลลัพธ์เท่ากับ 2000ms สรุปว่า เพลงที่มีจังหวะความเร็ว 120BPM จะมีหางเสียงของรีเวิร์บไม่ควรเกิน 2000ms หรือ 2s นั่นเอง

สรุป :

       สุดท้ายนี้การเลือกใช้เอฟเฟคในการมิกซ์เสียงนั้นก็เพื่อตอบสนองต่อความต้องการของผู้มิกซ์ ไม่มีสิ่งไหนเป็นกฎตายตัว มีแต่ถูกใจกับไม่ถูกใจ  ผู้เขียนจึงเพียงแต่หวังให้เกร็ดเล็ดเกร็ดน้อยนี้จะช่วยเป็นอีกทางเลือกสำหรับการมิกซ์เสียงสำหรับผู้ที่กำลังสนใจในการมิกซ์ทุกท่านครับ

สนใจสอบถาม คอร์สเรียนและหลักสูตรต่าง ๆ สามารถสอบถามได้ที่

     โทรศัพท์ 02-550-6340, 064-198-2499

    Line : @liveforsound

      Email : [email protected]

บทความโดย: อาทิตย์ พรหมทองมี

สอบถามข้อมูลการเรียนได้ทาง