ระบบเสียงเบื้องต้น

ระบบเสียงเบื้องต้น

     หากจะกล่าวถึงระบบเสียงว่าประกอบไปด้วยอะไรบ้าง นั่นคงเป็นสิ่งที่จะให้ตอบได้ทั้งหมดก็คงยากมาก ทั้งนี้ก็เพราะ ขอบเขตของระบบที่มีสำหรับการใช้งานที่แตกต่างกันนั้นมีมากมายมหาศาล ไม่ว่าจะเป็น ระบบเสียงสำหรับดูหนัง ฟังเพลงที่บ้าน ระบบเครื่องเสียงในร้านอาหาร ระบบเสียงในผับ ระบบเสียงประกาศตามสาย ไปจนถึง ระบบเครื่องเสียงสำหรับดนตรีสดในงานคอนเสิร์ตตั้งแต่ขนาดเล็ก ไปจนถึงเฟสติวอลขนาดใหญ่ แต่ถึงอย่างไรก็ตาม ระบบเสียงอิเล็กทรอนิกส์ทั้งหมดนั้นล้วนมีพื้นฐานอยู่บนแนวคิดง่าย ๆ แบบเดียวกัน ก็คือ ในการนำคลื่นเสียงมาแปลงให้เป็นกระแสไฟฟ้าและจัดการตามที่ต้องการ จากนั้นแปลงกลับเป็นคลื่นเสียง ดังนั้นแล้ว อุปกรณ์หลัก ๆ ในระบบเสียงนั้น จึงมีเพียงสองประเภทคือ
     – ทรานดิวเซอร์ เป็นอุปกรณ์ที่แปลงพลังงานจากรูปแบบหนึ่งเป็นอีกรูปแบบหนึ่ง โดยในระบบเสียงมีอยู่สองทรานสดิวเซอร์ก็คือไมโครโฟน (ทำหน้าที่แปลงพลังงานเสียงเป็นพลังงานไฟฟ้า) ลำโพง (ทำหน้าที่แปลงพลังงานไฟฟ้าเป็นพลังงานเสียง)
     – แอมปลิฟายเออร์ (Amplifier) หรือมักจะเรียกกันง่าย ๆ ว่าแอมป์ (Amp) คืออุปกรณ์ที่ส่วนใหญ่ทำการเปลี่ยนหรือเพิ่มกว้างของคลื่นเสียงซึ่งก็คือความดังของสัญญาณหรือแอมปลิจูดให้มากขึ้นนั่นเอง

ขั้นตอนการทำงานของ ระบบเสียง

     สามารถแบ่งเป็นขั้นตอนได้ดังนี้คือ

  •  กระบวนการเริ่มต้นด้วยแหล่งกำเนิดเสียง (เช่น เสียงมนุษย์) ซึ่งสร้างคลื่นเสียง (พลังงานเสียง)
  • คลื่นเหล่านี้จะถูกทรานดิวเซอร์ซึ่งก็คือไมโครโฟน แปลงสัญญาณให้เป็นพลังงานไฟฟ้า
  • สัญญาณไฟฟ้าที่แปลงมาจากไมโครโฟนจะอ่อนมาก จึงต้องป้อนไปยังเครื่องขยายเสียง เพื่อขยายสัญญาณ
  • ขั้นตอนสุดท้าย ทรานดิวเซอร์อีกตัว ซึ่งก็คือลำโพงจะแปลงสัญญาณไฟฟ้ากลับเป็นคลื่นเสียงที่หูของ
    มนุษย์ได้ยินนั่นเอง

องค์ประกอบ ระบบเสียงเบื้องต้น

     ไม่ว่าจะเป็นระบบเสียงขนาดเล็กไปจนถึงขนาดใหญ่ ล้วนแต่มีองค์ประกอบที่เหมือนกัน นั่นก็คือ

     1. ภาคอินพุต (INPUT) หรือ แหล่งที่มาของเสียง ประกอบด้วยอะไรบ้าง อุปกรณ์ประเภทนี้ทำหน้าที่เป็นแหล่งต้นกำเนิดเสียง หรือ Source ให้เป็นคลื่นไฟฟ้าความถี่เสียง เช่น ไมโครโฟน หรืออีกนัยหนึ่งภาคสัญญาณเข้า ก็คือ จุดแรกที่รับสัญญาณจากแหล่งกำเนิดเสียง เช่น เสียงร้องเพลง เสียงพูด เสียงเครื่องดนตรี เครื่องเล่นซีดี วีซีดี คอมพิวเตอร์ เครื่องเล่นมัลติมีเดียต่าง ๆ เพื่อเตรียมส่งไปยังภาคขยายสัญญาณ

     2. ภาคโปรเซสเซอร์ Processor หรือภาคประมวลผล เป็นการนำสัญญาณที่รับมาจากภาคอินพุต เพื่อมาปรับแต่งด้วยอุปกรณ์ต่าง ๆ ก่อนส่งไปขยายเสียง ซึ่งประกอบไปด้วยด้วย มิกเซอร์ อีควอไลเซอร์ คอมเพรสเซอร์ ครอสโซเวอร์ เอฟเฟคแต่งเสียงอื่น ๆ คอนโทรลเลอร์ต่าง ๆ เป็นต้น โดยอุปกรณ์ที่กล่าวมาทั้งหมดมีลักษณะการทำงานที่แตกต่างกันไปดังต่อไปนี้ คือ

Mixer มิกเซอร์
     ทำหน้าที่ผสมสัญญาณเสียงต่าง ๆ ที่รับมาจากไมโครโฟนเสียงร้องเพลง เสียงพูด เสียงเครื่องดนตรี เครื่องเล่นซีดี วีซีดี คอมพิวเตอร์ เครื่องเล่นมัลติมีเดียต่าง ๆ เข้าด้วยกัน แล้วส่งสัญญาณออกไปหาระบบขยายเสียง โดยมิกเซอร์สามารถปรับความแรงของสัญญาณเสียง (Gain) ให้เหมาะสม ปรับแต่งเสียงต่าง ๆ เช่น EQ คอมเพลสเซอร์ เอฟเฟค ที่มีมาให้ในมิกเซอร์ ปรับระดับความดังเสียงแต่ละแชแนลและควบคุมความดังของระบบเสียงทั้งหมด ไมว่าจะเป็นระบบเสียงเล็ก ๆ ระบบเสียงห้องประชุม ไปจนถึงระบบเสียงคอนเสิร์ตขนาดใหญ่
     ในยุคแรกมิกเซอร์จะมีเพียงแบบอะนาล็อก ซึ่งใช้วงจรไฟฟ้าในการปรับแต่งเสียงต่าง ๆ จุดเด่นของมิกเซอร์อนาล็อคคือ มีรายละเอียดเสียงที่ดีกว่ามิกเซอร์ดิจิตอลในปัจจุบัน ที่รายละเอียดของเสียงถูกลดทอนจากการแปลงสัญญาณ แต่มิกเซอร์อะนาล็อคเองก็มีข้อจำกัดของมิกเซอร์เยอะพอสมควร เช่น ในการมิกซ์ดนตรีสดอาจต้องต่อเอาท์บอร์ดเกียร์เพิ่มในการปรับแต่งเสียง และตัวมิกเซอร์เองมักจะมีขนาดใหญ่มาก ทำให้ไม่สะดวกในการขนย้ายมากนัก แต่ในปัจจุบันมิกเซอร์ดิจิตอลที่ถูกพัฒนาขึ้นใหม่ ได้เป็นที่นิยมในปัจจุบันมาก เพราะมีขนาดเล็กกว่าสามารถปรับแต่งเสียงได้มากกว่า ที่สำคัญราคาถูกลงมาก ถ้าเทียบกับอนาล็อกมิกเซอร์แบบอะนาล็อก นั่นก็เพราะมิกเซอร์ดิจิตอล ใช้รูปแบบชิพประมวลผลแบบดิจิตอล ทำให้มีขนาดเล็กกว่า และลดต้นทุนในการผลิตได้นั่นเอง

มิกเซอร์อนาล็อก
มิกเซอร์ดิจิตอล

Equalizer หรือ EQ
     อีควอไลเซอร์ (Equalizer) มีหน้าที่ในการควบคุมและชดเชยย่านความถี่ของเสียง (frequency) ให้อยู่ในระดับสัญญาณที่เหมาะสม เพื่อให้ตรงตามความต้องการของผู้ใช้งาน ซึ่งก็จะเป็นไปตามความเหมาะสมในการใช้งาน ไม่ว่าจะเป็นงานดนตรีขนาดเล็ก งานประชุม และงานคอนเสิร์ตขนาดใหญ่ โดยอีควอไลเซอร์ (Equalizer) มีองค์ประกอบพื้นฐานดังนี้ คือ

ค่า Gain

     Gain หรือค่าในการปรับระดับความดัง-เบาของเสียงในย่านความถี่ที่ต้องการผ่าน

     Frequency หมายถึง ค่าความถี่ของสัญญาณเสียง ซึ่งมีหน่วยวัดเป็นเฮิร์ตซ์ (HZ) เราสามารถเลือกปรับเป็นย่านความถี่ตามการใช้งานได้ เช่น ความถี่เสียงต่ำ (Low) เป็นความถี่ระดับพื้นฐาน (Fundamental) ที่จะทำให้เพิ่มหรือลดความหนักแน่นของดนตรีได้ ย่านความถี่เสียงกลาง (Midrange) ที่เป็นย่านของเนื้อเสียง ไม่ว่าเป็นเสียงพูดหรือเสียงเครื่องดนตรี และย่านความถี่เสียงสูง (Hi) ที่ช่วยเพิ่มหรือลดความสดใสของดนตรีหรือเสียงร้อง เสียงพูดได้ 

ค่า Frequency
ค่า Q

     Q คือ การกำหนดค่าความกว้างและความแคบของช่วงความถี่เสียง เพื่อสร้างสมดุลของความถี่เสียง เช่น กำหนดค่า Q ให้แคบเพื่อตัดเสียงในย่านเสียงที่ไม่ต้องการออก หรือเพิ่มค่า Q ให้กว้างเพื่อเพิ่มหรือลดย่านเสียงที่ต้องการตามความต้องการของผู้ควบคุมมิกเซอร์ เป็นต้น

 Compressor คอมเพรสเซอร์
     คอมเพรสเซอร์ (Compressor) ทำหน้าที่ควบคุมระดับความแรงของสัญญาณเสียง ไมให้เกินค่าที่เรากำหนดไว้ ทำงานโดยการ บีบอัด หรือ กดระดับสัญญาณเสียง การใช้งานคอมเพรสเซอร์ยังช่วยสร้างคาแร็คเตอร์ของเสียง ให้มีความหนา กลม กระชับ มากขึ้น เป็นอีกหนึ่งอุปกรณ์ที่ได้รับความนิยมอย่างสูงในงานมิกซ์เสียงดนตรีสด

Effect เอฟเฟค
     ทำหน้าที่เพิ่มสีสันในการมิกซ์เสียงสำหรับนักร้องหรือเครื่องดนตรี โดยในดิจิตอลมิกเซอร์ในปัจจุบันส่วนใหญ่ก็จะมีฟีเจอร์เหล่านี้บิ้วอินมาในมิกเซอร์ด้วย และผู้มิกซ์เองก็ยังสามารถอินเสิร์ทเอฟเฟคเอ้าบอร์ดเพิ่มได้ตามจินตนาการและความต้องการของผู้มิกซ์ และนอกจากกล่าวมาทั้งหมด ยังมีเครื่องปรุงแต่งเสียงอื่น ๆ เช่น คอนโทรลเลอร์ (Controller) ต่าง ๆ ก็รวมอยู่ในภาคโปรเซสเซอร์ Processor หรือภาคประมวลผล เช่นเดียวกัน

     3.ภาคเอ้าพุท OUTPUT ประกอบด้วย

     เครื่องขยายเสียงหรือเพาเวอร์แอมป์ คือ อุปกรณ์ที่ทำหน้าที่เปลี่ยนหรือเพิ่มความกว้างของคลื่นเสียงซึ่งก็คือความดังของสัญญาณที่อินพุตเข้ามาให้มากขึ้น มีกำลังเพียงพอ เพื่อส่งต่อไปยังลำโพง 

ลำโพง (Speaker)

     ลำโพง (Speaker) มีทั้งลำโพงแบบแอคทีฟ (มีภาคขยายเสียงในตัว) และพาสสีฟ (ไม่มีภาคขยายเสียงในตัวต้องใช้พาวเวอร์ในการขับเสียง) เป็นอุปกรณ์ที่อยู่ท้ายสุดของระบบเสียง ทำหน้าที่เป็นแหล่งกำเนิดเสียง ซึ่งลำโพงมีส่วนสำคัญมากที่จะบอกว่าระบบเสียงนั้นเสียง ดี และ ดัง มากแค่ไหน เราจะพบว่ายิ่งลำโพงมีคุณภาพดี ก็ยิ่งมีราคาที่แพงมากขึ้น ดังนั้นหัวใจของเสียงที่ดีจึงอยู่ที่การเลือกใช้ลำโพงที่ดีด้วย ลำโพงมีอยู่หลายประเภทแบ่งตามลักษณะการกำเนิดเสียงดังนี้คือ

     – ลำโพงแหล่งกำเนิดเสียงเดียว หรือลำโพงพอยซอร์ส (Point Souce Speaker) เป็นลำโพงรูปแบบที่เกิดขึ้นแรกสุดและยังถูกใช้งานอยู่ในปัจจุบัน เนื่องจากการใช้งานที่ง่าย ไม่ซับซ้อน เพียงต่อสาย ตั้งขาตั้ง ปรับระดับให้พอดีก็เพียงพอแล้ว แต่การใช้งานลำโพงพอยซอร์ส (Point Souce Speaker) ก็ยังมีข้อจำกัดคือ ไม่เหมาะกับการใช้งานในพื้นที่ใหญ่มาก ๆ หรือการใช้งานลำโพงร่วมกันหลาย ๆ ใบเนื่องจากมุมกระจายเสียงที่กว้างของลำโพงพอยซอร์ส (Point Souce Speaker) จะทำให้เกิดการทับซ้อนของเสียงจากการที่มีแหล่งกระจายเสียง
หลายจุดนั่นเอง

ลำโพงแหล่งกำเนิดเสียงเดียว หรือลำโพงพอยซอร์ส (Point Souce Speaker)
ลําโพงไลน์อาเรย์ (Line Array Speaker)

     – ลําโพง ไลน์อาเรย์ (Line Array Speaker) ชื่อ ไลน์อาเรย์ ได้มาจากการที่ลำโพงหลาย ๆ ใบถูกแขวนเรียงกันเป็นเส้นหรือ Line นั่นเอง ข้อดีของลําโพง ไลน์อาเรย์ (Line Array Speaker) ก็คือให้เสียงที่ดัง สามารถใช้งานในพื้นที่ขนาดใหญ่มาก ๆ ได้ ให้ความดังในแต่ละจุดของพื้นที่ใกล้เคียงกัน อันเนื่องมาจากตัวลำโพงมีมุมกระจายเสียงที่แคบเป็นพิเศษ จึงสามารถควบคุมทิศทางของเสียงได้ตามที่ต้องการ ลําโพง ไลน์อาเรย์ (Line Array Speaker) จึงได้รับความนิยมอย่างมากในการใช้งานในงานคอนเสิร์ตต่าง ๆ

     – ลำโพงเสียงเบสหรือซับวูฟเฟอร์ (Sub Woofer) เป็นลำโพงที่ค่อนข้างใหญ่ มีขนาดปกติตั้งแต่ 8-15 นิ้ว ให้พลังเสียงในย่านต่ำ ที่ความถี่ประมาณ 20-120 เฮิรตซ์ ช่วยให้ระบบเสียงมีความหนักแน่น ทรงพลัง

ลำโพงเสียงเบสหรือซับวูฟเฟอร์ (Sub Woofer Speaker)
ลําโพงคอลัมน์ (Column)

     – ลําโพงคอลัมน์ (Column) คือ ตู้ลำโพงที่มีดอกลำโพงจำนวนหลายดอกอยู่ภายในตู้ใบเดียวกัน โดยทุกดอกจะเรียงตัวกันในเเนวตั้ง ทำให้สามารถควบคุมมุมกระจายเสียงในเเนวตั้งได้ ลำโพงชนิดนี้ จะสามารถช่วยลดเสียงสะท้อนในพื้นที่การใช้เสียงได้่ดี นิยมใช้ในระบบประชุม หรือหอประชุมที่มีปัญหาเรื่องเสียงก้อง

อุปกรณ์เชื่อมต่อต่าง ๆ
     ได้แก่ สายสัญญาณ ซึ่งโดยทั่วไปมักจะใช้สายแบบ Balance ที่มีการเข้าหัวแบบ XLR ประกอบด้วย ตัวนำสัญญาน 2 เส้น คือสี น้ำเงิน แดง และ ชิล ซึ่งเป็นทองแดงที่ถักอยู่รอบ ๆ, สายลำโพงที่มีการเข้าหัวแบบ SpeakON มีส่วนประกอบคือเป็นขั้ว + และขั้ว – มีขนาดตั้งแต่ 0.5, 1 และ 2.5 มิลิเมตร โดยขนาดของสายจะสัมพันธ์กับความยาวก็คือยิ่งสายลำโพงยาวก็ควรใช้สายขนาดใหญ่ขึ้น และในกลุ่มอุปกรณ์เชื่อมต่อยังรวมไปถึง สายไฟ ปลั๊กและแจ็ค ต่าง ๆ อีกด้วย ซึ่งอุปกรณ์เหล่านี้ที่ทำหน้าที่เชื่อมต่อระบบสัญญาณต่าง ๆภายในระบบให้สามารถใช้งานร่วมกันได้ ถือเป็นอีกอุปกรณ์ที่ขาดไม่ได้ในระบบ Audio System (ระบบเสียง)

สรุป :

    ระบบเสียงไม่ว่าจะขนาดเล็กหรือขนาดใหญ่ ก็ล้วนแต่ประกอบไปด้วยสามองค์ประกอบข้างต้น แต่ในส่วนของความแตกต่างด้านคุณภาพเสียงนั้น มาจากคุณภาพของผลิตภัณฑ์แต่ละแบรนด์ และความสามารถในการปรับแต่งหรือออกแบบระบบของซิสเต็มเอ็นจิเนียร์ แต่การจะเรียนรู้การปรับแต่งระบบเสียงขนาดใหญ่ จำเป็นจะต้องเริ่มจากพื้นฐานที่ถูกต้องเสียก่อน รวมทั้งการหาความรู้ใหม่ ๆ เพิ่มเติมอยู่เสมอเพราะเทคโนโลยีก็มีการอัพเดตอยู่เรื่อย ๆ นั่นเอง

สนใจสอบถาม คอร์สเรียนและหลักสูตรต่าง ๆ สามารถสอบถามได้ที่

     โทรศัพท์ 02-550-6340, 064-198-2499

      Line : @liveforsound

      Email : [email protected]

บทความโดย: อาทิตย์ พรหมทองมี

รับติดตั้งระบบเสียง ห้องประชุม ร้านอาหาร ผับบาร์ ห้องคาราโอเกะ ห้องจัดเลี้ยง ระบบเสียงสนามกีฬา ระบบเสียงร้านกาแฟ สามารถปรึกษาทางทีมงาน LIVE FOR SOUND ได้ พร้อมรับตรวจเช็ค แก้ไขปัญหาระบบเสียงทุกรูปแบบ โดยทีมงานมืออาชีพ ที่มีประสบการณ์มากกว่า 15 ปี

สอบถามข้อมูลการเรียนได้ทาง