การบันทึกเสียงพูดหรือเสียงพากย์ในสตูดิโอ ไม่ว่าจะเป็นการบันทึกเสียงงานพอดแคสต์, การบันทึกเสียงพูด Spot โฆษณา, การบันทึกเสียงประกอบวีดีโอ ไปจนถึงงานพากย์เสียงต่าง ๆ นั้น มีความสำคัญและมีรายละเอียดไม่ต่างจากการบันทึกเสียงร้องเพลง หรือการบันทึกเสียงเครื่องดนตรีต่าง ๆ มีขั้นตอนในการเตรียมอุปกรณ์ และรายละเอียดในการทำงานแบบเดียวกัน ทั้งนี้ก็เพื่อให้ได้ไฟล์เสียงที่ดีที่สุด เพื่อนำไปใช้ในขั้นตอนอื่นๆ เช่น การปรับแต่งเสียง หรือตัดต่อเพื่อใช้งานต่อไป บทความนี้จะมาแนะนำเคล็บลับในการบันทึกเสียงพูด เพื่อให้ได้คุณภาพเสียงที่ดีที่สุด สำหรับนำไปใช้งานตามจุดประสงค์ของผู้ใช้งานต่อไปเคล็ดลับในการบันทึกเสียงพากย์เพื่อให้ได้ไฟล์เสียงที่ดีที่สุด มีดังต่อไปนี้ คือ

เลือกไมโครโฟนที่เหมาะสม

ควรเลือกใช้ไมโครโฟนที่เหมาะสมกับการใช้งานบันทึกเสียงพูด หรือออกแบบมาสำหรับงานพูดโดยเฉพาะ และมีฟิลเตอร์แบบโลว์คัทบนไมค์ช่วยกรองความถี่ต่ำได้ ยกตัวอย่างไมค์ยอดนิยมสำหรับการบันทึกเสียงพูด เช่น Electro-Voice RE320 ซึ่งเป็นไมค์ไดอะแฟรมขนาดใหญ่มีเทคโนโลยี Variable-D ทำให้โทนของเสียงพูดมีความสม่ำเสมอไม่ว่าจะพูดใกล้หรือไกล และไมค์ Shure SM7B ไมโครโฟนไดนามิก แบบคาร์ดิออย เป็นต้น

ควรใช้ตัวกันเสียงลมเข้าไมค์ หรือ Pop filter

ตัวกันเสียงลมเข้าไมค์ หรือ Pop filter มีประโยชน์มากในการบันทึกเสียงพูดหรือเสียงพากย์ เพราะนอกจากจะช่วยป้องกันเสียงลมเข้าไมค์หรือกระแทกไมค์แล้ว ยังสามารถใช้เป็นตัวช่วยในการจัดตำแหน่งผู้พากย์เสียงให้อยู่ในระยะห่างที่ถูกต้องจากไมโครโฟน เช่น หากผู้พากย์เสียงอยู่ห่างจากฟิลเตอร์กรองเสียง 4 – 6 นิ้ว ก็ใช้วิธีการวางแผ่นกรองเสียงป๊อปฟิลเตอร์ไว้หน้าไมโครโฟน 4 – 6 นิ้ว แทน เป็นต้น Pop filter ที่มืออาชีพนิยมใช้กันได้แก่

ใช้สแตนโน้ตวางสคริปต์แทนการถือ

การใช้สแตนโน้ตวางสคริปต์แทนการถือจะช่วยลดโอกาสที่จะเกิดเสียงดังจากการเปลี่ยนหน้ากระดาษ ช่วยให้เราสามารถจัดระดับความสูงของสคริปต์ให้อยู่ระดับสายตาได้ และการวางสแตนโน้ตก็ยังช่วยให้ผู้พากย์เสียงสามารถยืนห่างจากไมโครโฟนได้อย่างเหมาะสมอีกด้วย

ควรอ่านสคริปต์ล่วงหน้า

การอ่านสคริปต์ล่วงหน้า จะทำให้เราได้รู้ว่าจุดไหนที่ออกเสียงยาก คำไหนที่ควรต้องระมัดระวังในการออกเสียง หรือควรเว้นวรรคอย่างไร และที่สำคัญการฝึกอ่านสคริปต์ล่วงหน้า จะช่วยให้จดจำเนื้อหาได้ขึ้นใจ ช่วยให้การบันทึกเสียงพูดเป็นไปอย่างราบรื่นไม่ติดขัด

วอร์มเสียงก่อนการบันทึกเสียง

การวอร์มเสียงก่อนการบันทึกเสียงพูด จะช่วยให้ผู้พากย์เสียงสามารถคอนโทรลระดับเสียง น้ำหนักเสียงในการพูด ทำให้การบันทึกเสียงพูดหรือเสียงพากย์เป็นไปอย่างเป็นธรรมชาติได้

งดแต่งกายด้วยเสื้อผ้าหรือเครื่องประดับที่สร้างเสียงรบกวนได้

แม้แต่เรื่องเล็กน้อยที่เราอาจคาดไม่ถึง เช่น เสื้อผ้าบางชนิดอาจก่อให้เกิดรบกวนได้ในเวลาที่เราขยับตัว หรือแม้กระทั่งเครื่องประดับที่เราใส่ แม้จะมีโอกาสเกิดขึ้นได้น้อย แต่ในการบันทึกที่ต้องการไฟล์คุณภาพสูง การมีเสียงรบกวนแม้เพียงเล็กน้อย อาจทำให้แก้ไขในภายหลังได้ยากขึ้น

รักษาระยะห่างจากไมโครโฟน

ควรยืนรักษาระยะให้ห่างจากไมโครโฟน เนื่องจากไมโครโฟนบันทึกเสียงมีความไวสูงอยู่แล้ว โดยสำหรับการบันทึกเสียงพูดระดับมืออาชีพเราสามารถออกแบบเสียงตามที่ต้องได้ผ่านการรักษาระยะห่างจากไมโครโฟน เช่น หากผู้บันทึกอยากได้เสียงที่มีความสะอาด ไร้เสียงรบกวนรอบข้าง เป็นธรรมชาติ ก็ควรอยู่ห่างจากไมโครโฟนออกประมาณ 5 นิ้ว หรือ 12 เซนติเมตร ซึ่งเป็นระยะที่กำลังดี ไม่ใกล้ไม่ไกล แต่หากต้องการให้มีเสียงของบรรยากาศในห้อง หรือเสียง Room เข้ามาด้วย ก็สามารถทำได้โดยการรักษาระยะห่างจากไมโครโฟนสักประมาณ 12 นิ้ว หรือ 30 เซนติเมตร เพื่อเก็บเสียงรอบข้างได้

หายใจให้ถูกต้อง

ควรฝึกการหายใจให้เงียบที่สุด และเร็วที่สุด โดยใช้กระบังลม หรือหน้าท้อง ซึ่งเป็นทักษะแบบเดียวกับการร้องเพลง ระวังเสียงลมหายใจระหว่างประโยค หรือย่อหน้าบทพูด และการหายใจที่ถูกต้อง จะช่วยให้เรามีกำลังเสียงในการพูดได้อย่างชัดเจน ซึ่งเรื่องเสียงลมหายใจนั้นระวังหรือทำให้ไม่ได้ยินโดยการนำเทคนิคการยืนห่างไมโครโฟนมาช่วยได้

รักษาระดับเสียงให้สม่ำเสมอ

ควรฝึกการพูดโดยรักษาระดับเสียงให้ชัดเจน สม่ำเสมอ ไม่วูบวาบ ดังเกินไปหรือเบาเกินไป ซึ่งอาจต้องเวลาในการฝึกฝนพอสมควร โดยการรักษาระดับจะสัมพันธ์กับการฝึกการหายใจที่ถูกต้อง และการหายใจได้เร็วและเงียบ เหตุที่ต้องระมัดระวังให้มากก็เพราะ ไมโครโฟนที่ใช้บันทึกเสียงพูด มีความไวต่อเสียงสูง หากเรามีระดับเสียงพูดที่วูบวาบ ดังเบาไม่เท่ากัน จะทำให้เสียเวลาในขั้นตอนการปรับแต่งเสียงต่อไปอีก

ดื่มน้ำบ่อย ๆ เพื่อสร้างความชุ่มชื้นให้กับคอและเส้นเสียง

การดื่มน้ำบ่อย ๆ จะเป็นการสร้างความชุ่มชื้นให้กับคอและเส้นเสียง จะช่วยสร้างความต่อเนื่องในการพูดได้ดี ทำให้เราพูดในระดับเสียงที่สม่ำเสมอได้นานขึ้น ช่วยให้ร่างกายของเรามีประสิทธิภาพในการการบันทึกเสียงพูดต่อไปได้อย่างไหลลื่น ได้เสียงที่มีคุณภาพ
สรุป :
เคล็ดลับทั้ง 10 ข้อนี้ หากสามารถนำไปใช้ในการบันทึกเสียง จะช่วยเพิ่มคุณภาพในการบันทึกเสียงของคุณ บางเคล็ดลับอาจต้องใช้เวลาพอสมควรในการฝึกฝน แต่หากหมั่นฝึกฝนหรือทำจนเป็นความเคยชิน ก็จะกลายเป็นเทคนิคติดตัว และงานบันทึกครั้งต่อ ๆ ไปของคุณก็จะกลายเป็นงานระดับมืออาชีพได้ไม่ยากครับ และหากคุณสนใจไมโครโฟนสำหรับบันทึกเสียง หรืออุปกรณ์อื่น ๆ ติดต่อเข้ามาสั่งซื้อหรือขอคำแนะนำเพิ่มเติมได้ที่ Live For Sound นะครับ เรามีทีมงานคอยให้คำแนะนำและช่วยเลือกสินค้าได้ตรงกับความต้องการของคุณได้ครับ Live For Sound โดยบริษัท ทริปเปิ้ล อินโนเวชั่น จำกัด เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการออกแบบติดตั้ง ระบบห้องบันทึกเสียง และจำหน่ายอุปกรณ์บันทึกเสียงระดับมืออาชีพ
สอบถาม เกี่ยวกับสินค้าและการออกแบบติดตั้ง สามารถสอบถามได้ที่
โทรศัพท์ 02-550-6340, 064-198-2499
Line : @liveforsound
Email : sale@liveforsound.com
บทความโดย: อาทิตย์ พรมทองมี
ทีมงาน LIVE FOR SOUND เราพร้อมให้คำปรึกษาทุกด้าน พร้อมรับตรวจเช็ค แก้ไขปัญหาระบบเสียงทุกรูปแบบ โดยทีมงานมืออาชีพ ที่มีประสบการณ์มากกว่า 15 ปี