จ้าง Sound Engineer ต้องใช้เงินเท่าไหร่
คำว่า Sound Engineer นั้น หลายคนอาจจะไม่คุ้นหู และยิ่งในประเทศไทยนั้นเป็นอาชีพที่แทบจะรู้จักกันในวงแคบมาก ถ้าแปลตามตัวภาษาอังกฤษ คำว่า Sound Engineer ก็จะแปลว่า วิศวกรเสียง แล้ววิศวกรเสียงที่ว่านี้ทำหน้าที่อะไร เหมือนกับวิศวกรทั่วไปหรือเปล่า เช่นวิศวกรโยธา วิศวกรไฟฟ้า วิศวกรคอมพิวเตอร์ และรายได้ของคนทำงานที่มีอาชีพ Sound Engineer (ซาวด์เอ็นจิเนียร์) นั้นได้ค่าจ้างเท่าไหร่ อยากรู้ก็ตามไปอ่านกันได้เลยครับ
ก่อนอื่นนั้นจะแนะนำว่า Sound Engineer (ซาวด์เอ็นจิเนียร์) นั้นมีหลายตำแหน่งหน้าที่ อยากรู้ว่ามีตำแหน่งอะไรบ้าง เข้าไปอ่านในบทความนี้กันก่อนเลยครับ
สำหรับค่าจ้างของ Sound Engineer นั้น จะแบ่งได้ 2 แบบ คือ แบบค่าจ้างประจำเป็นรายเดือน กับแบบค่าจ้างเป็นงาน ๆ ไป โดยส่วนมากในประเทศไทยนั้นจะได้รับค่าจ้างเป็นงาน ๆ หรือที่มักจะเรียกกันว่า Freelance (ฟรีแลนซ์) เป็นหลัก เรามาดูค่าจ้างแต่ละแบบกันดีกว่าครับ

Sound Engineer งานประจำ


สำหรับ Sound Engineer แบบค่าจ้างรายเดือนที่ทำงานประจำนั้น โดยส่วนใหญ่แล้วจะเริ่มต้นที่ 15,000 บาท และเงินเดือนค่าจ้างนั้นจะเพิ่มขึ้นไปเรื่อย ๆ ตามประสบการณ์ จนถึงเดือนละ 50,000 บาท ยังไม่รวมค่าทำงานล่วงเวลา (OT) หรือรายได้พิเศษอื่น ๆ นอกเหนือจากนี้ อย่างเช่นค่ามิกซ์เสียง ค่า Design เสียง ถ้าแบ่งตามงานประจำก็จะได้ตามนี้
Sound Engineer ประจำผับ
เริ่มต้นเงินที่ประมาณ 15,000 บาท – 25,000 บาท ก็จะทำงานตาม ร้านอาหารขนาดเล็ก ไปจนถึงขนาดกลาง ถ้าเป็นร้านอาหารขนาดใหญ่ เงินเดือนก็จะอยู่ที่ 25,000 บาท ถึง 50,000 บาท เลยทีเดียว แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น รายได้ก็จะขึ้นอยู่กับความสามารถและประสบการณ์ของ Sound Engineer (ซาวด์เอ็นจิเนียร์) โดยคนที่ทำงานประจำในผับนั้นมักจะเริ่มต้นจากการเป็นเด็กเสิร์ฟหรืออยู่บาร์น้ำมาก่อน แล้วไปเรียนรู้เพิ่มเติมจนได้คุมระบบเสียงทั้งหมดก็มี
Sound Engineer ประจำบริษัทให้เช่าระบบเสียง
โดยส่วนใหญ่แล้วเพดานเงินเดือนจะไม่สูงมาก จะอยู่ที่ 15,000 บาท – 35,000 บาท และจะมีรายได้เสริมจากเบี้ยเลี้ยงเวลาออกไปทำงานแต่ละงาน (ซึ่งแต่ละบริษัทนั้นจะให้ค่าเบี้ยเลี้ยงที่ไม่เท่ากัน) ตำแหน่งโดยส่วนใหญ่ของบริษัทผู้ให้เช่าระบบเสียงนั้นจะเป็นตำแหน่ง Sound System Engineer เป็นหลัก และมี Mixing Engineer อยู่ด้วยแต่ไม่เยอะมาก
Sound Engineer ประจำสตูดิโอ
เงินเดือนก็จะเริ่มต้นที่ 12,000 บาท ถึง 30,000 บาท หรืออาจจะสูงกว่านั้นแล้วแต่ความสามารถของแต่ละคน และก็จะมีรายได้เสริมจากจากการทำงานล่วงเวลา ซึ่งในส่วนของ Sound Engineer ประจำสตูดิโอนั้นก็จะมีในส่วนของ Studio ทำเพลงกับ Studio ทำหนัง ทำละคร คือคนที่ทำพวกเสียงประกอบหนังและละครต่าง ๆ รายได้ก็จะแตกต่างกันไป
คนที่เป็น Sound Engineer (ซาวด์เอ็นจิเนียร์) ทำงานประจำ ก็จะหารายได้เสริมจากการเป็น Sound Engineer Freelance ด้วยเหมือนกัน รายได้ก็จะเพิ่มขึ้นไปอีก อย่างที่บอกไปรายทั้งหมดจะขึ้นอยู่กับความสามารถและความขยันเป็นหลัก

Sound Engineer Freelance


เป็นงานที่มีคนทำเยอะกว่างานประจำ แต่ใช่ว่าทุกคนจะเป็น Sound Engineer Freelance ได้ เพราะต้องบ่มเพาะประสบการณ์เป็นอย่างสูง โดยส่วนใหญ่แล้วคนที่เป็น Sound Engineer Freelance นั้นจะทำงานในด้าน Live Sound Engineer เป็นหลัก มาดูค่าจ้างในแต่ละงานของ Sound Engineer แต่ละตำแหน่งกันดีกว่า
Sound Engineer ในผับ ร้านเหล้า ร้านอาหาร
ส่วนใหญ่แล้วค่าจ้างจะได้ไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับขนาดของร้าน และพื้นที่ในการทำงาน หากเป็นเมืองใหญ่และเมืองท่องเที่ยว ก็จะได้วันละ 800 บาท – 1,200 บาท แต่โดยเฉลี่ยมักจะอยู่ที่ 800 บาท ร้านไหนเล็กมาก ๆ ก็จะจ้างในราคา 500 บาท เวลาทำงานก็จะทำงานตั้งแต่เวลา 20.00 น. – 24.00 น. เป็นหลัก บางร้านก็จะล่วงเลยเกินเวลาออกไป
ซาวด์เอ็นจิเนียร์ที่ทำงานในผับนี้โดยส่วนใหญ่แล้วจะทำหน้าที่มิกซ์เสียงเป็นหลัก ต้องมีความรู้เรื่องการมิกซ์เสียงพอประมาณ และเข้าใจนักดนตรีก็สามารถทำงานได้
Sound Engineer ประจำวงดนตรี
จะเป็นตำแหน่งที่ต้องมีความสามารถอย่างสูง หากเป็น Sound Engineer ประจำวงดนตรีทั่วไปก็จะได้ค่าจ้างอยู่ประมาณ 1,000 บาท – 2,500 บาท ต่องาน
ถ้าหากขยับขึ้นมาเป็น Sound Engineer ประจำศิลปินค่ายเล็ก ๆ ทั่วไป ก็จะมีค่าจ้างประมาณ 2,500 บาท – 4,000 บาท ราคานี้คือมิกซ์เสียงวงดนตรีทั้งวง หากเป็นแค่ร้องกับ Backing Track (แบ็คกิ้งแทรค) ก็จะอยู่ที่ 1,000 บาท – 1,500 บาท ต่องาน
ขยับขึ้นมาเมื่อมีความสามารถมากขึ้นก็อาจจะได้มาเป็น Sound Engineer กับศิลปินเบอร์ใหญ่ ๆ ระดับประเทศ ค่าตัวก็จะมีราคาตั้งแต่ 4,000 บาท – 15,000 บาท ต่องานเลยทีเดียว ขึ้นอยู่กับขนาดความมีชื่อเสียงของศิลปินวงนั้น ๆ แต่โดยเฉลี่ยแล้วมักจะอยู่ที่ 4,000 บาท – 6,000 บาท หากช่วงไหนที่มีงานแน่นมาก ๆ รายได้ต่อเดือนก็มีหลักแสนแน่ ๆ ถือได้ว่ามากกว่าวิศวกรสาขาอื่น ๆ อีกด้วย ระยะเวลาการทำงานก็จะตามเวลาที่ทางวงกำหนด เช่น Sound Check บ่าย 2 – 4 โมงเย็น ขึ้นแสดง 5 ทุ่ม – เที่ยงคืน หรือบางที่อาจจะดึกกว่านั้น เวลาไม่แน่นอน บางครั้งวันเดียวสามารถทำงานได้ 2 – 3 ที่ก็มี
Sound Engineer ประจำเวทีมิวสิคเฟสติวัล
โดยทั่วไป Sound Engineer ที่ทำหน้าที่ประจำตรงมิกเซอร์นั้น เราจะเรียกว่า ซาวด์กลาง คอยทำหน้าที่อำนวนความสะดวกและจัดการระบบเสียงให้กับ Sound Engineer ศิลปินที่มาแสดง หรือมิกซ์เสียงวงดนตรีที่ไม่มี Sound Engineer ประจำ การทำงานจะเริ่มตั้งแต่เช้ามืดจนถึงเกือบสว่างของอีกวัน
เรทค่าจ้างก็จะอยู่ที่ 8,000 บาท – 15,000 บาท ต่อวัน แล้วแต่ว่างานนั้นจะมีขนาดใหญ่มากน้อยขนาดไหน หากงานมิวสิคเฟสติวัลที่มีชื่อเสียงก็จะใช้ Sound Engineer ที่มีประสบการณ์สูงมาคอยควบคุม ราคาค่าจ้างก็จะเพิ่มขึ้นตามประสบการณ์และความสามารถของ Sound Engineer อีกด้วย
Sound Engineer ประจำคอนเสิร์ตใหญ่
การทำงานคอนเสิร์ตใหญ่ระดับประเทศนั้น ไม่ใช่ว่าใครจะเข้ามาทำก็ได้ ต้องพึ่ง Sound Engineer ความสามารถที่สูงมาก ค่าจ้างก็ถือว่าสมกับงานระดับประเทศ และความกดดันของงานเป็นอย่างสูง เพราะเป็นงานที่พลาดไม่ได้แม้แต่นิดเดียว หากพลาดขึ้นมา ก็แทบจะไม่มีโอกาสกลับมาทำอีกแล้ว
ส่วนราคาค่าจ้างนั้นก็จะแบ่งเป็นวันซ้อม วันแสดง โดยรวมแล้วทั้งหมดก็จะอยู่ที่ประมาณ 25,000 บาท – 35,000 บาท ต่องาน รวมวันซ้อมและวันแสดงแล้วทั้งหมด
เห็นค่าจ้างขนาดนี้ น้อง ๆ ที่อยากเข้ามาทำงานเป็น Sound Engineer คงมีไฟที่อยากเข้ามาทำงานด้านนี้ ส่วนในต่างประเทศนั้นรายได้ดีกว่าประเทศไทยหลายเท่าตัว ซึ่งไม่เป็นที่น่าแปลกใจเลยทำไมหลักสูตรการเรียนด้าน Sound Engineer ที่ต่างประเทศจึงมีราคาที่ค่อนข้างสูง เพราะรายได้ค่าตอบแทนนั้นก็สูงใช่ย่อยเหมือนกัน
สรุป :
การที่อยากจะทำอาชีพ Sound Engineer ใช่ว่าจะเข้ามาทำกันได้ง่าย ๆ สิ่งหนึ่งที่เราต้องคำนึงถึงก่อนเลยก็คือ ความอดทนในการทำงาน เพราะเป็นงานที่มีความกดดันสูงอีกงานหนึ่ง ทุกอย่างแข่งกับเวลา มีปัญหาเกิดขึ้นได้ตลอด ทำงานกับสภาพอากาศที่ร้อนจัด และต้องทนอดหลับอดนอนได้
อาชีพ Sound Engineer นั้นเหมาะกับคนที่สามารถควบคุมอารมณ์ได้ดี ไม่เหมาะกับคนที่ใจร้อน เพราะการทำงานกับคนหลาย ๆ คนนั้น ต้องมีความใจเย็น มีทักษะในการเจรจา Sound Engineer ที่ประสบความสำเร็จมักจะมีคุณสมบัติเหล่านี้ทั้งสิ้น
การหาความรู้ก็เป็นสิ่งสำคัญเป็นอย่างมาก ทาง Live For Sound มีหลักสูตรเรียนทางด้าน Sound Engineer รองรับสำหรับคนที่อยากทำงานอาชีพนี้จริง ๆ สอนแบบเจาะลึก หลักสูตรทุกหลักสูตรนั้น สร้างมาจากความรู้จากหนังสือบวกกับประสบการณ์ในการทำงานจริง ทำให้หลักสูตร Sound Engineer ของทาง Live For Sound นั้นมีความเข้มข้นและตรงประเด็น เหมาะกับผู้ที่เริ่มต้น เมื่อเรียนจบแล้วสามารถประกอบอาชีพด้านนี้ได้เลย
หมายเหตุ : บทความนี้เป็นบทความที่เขียนจากประสบการณ์ในการทำงานส่วนตัวของผู้เขียนนะครับ
ใครที่สนใจอยากทำอาชีพด้าน SOUND ENGINEER สามารถเข้าไปดูรายละเอียดเพิ่มเติมตามนี้ได้เลย
- หลักสูตรเรียน SOUND ENGINEER
- หลักสูตรวิศวกรระบบเสียง
- หลักสูตรการมิกซ์เสียงในงานแสดงสด
- หลักสูตรการออกแบบระบบเสียง
และหลักสูตรอื่นๆอีกมากมาย สามารถอ่านบทความเพิ่มเติมได้เช่น
เรียน SOUND ENGINEER จะสามารถไปทำงานที่ไหนได้บ้าง ?
หรือสนใจสอบถามคอร์สเรียนและหลักสูตรต่าง ๆ สามารถสอบถามได้ที่
โทรศัพท์ 02-550-6340,064-198-2499
Line : @liveforsound
Email : sale@liveforsound.com
บทความโดย: ทรงพล แจ่มแจ้ง (SOUND ENGINEER)
รับติดตั้งระบบเสียง ห้องประชุม ร้านอาหาร ผับบาร์ ห้องคาราโอเกะ ห้องจัดเลี้ยง ระบบเสียงสนามกีฬา ระบบเสียงร้านกาแฟ สามารถปรึกษาทางทีมงาน LIVE FOR SOUND ได้ พร้อมรับตรวจเช็ค แก้ไขปัญหาระบบเสียงทุกรูปแบบ โดยทีมงานมืออาชีพ ที่มีประสบการณ์มากกว่า 15 ปี