เสียงรบกวน (Noise) คืออะไร? ทำไมถึงอันตราย

บทความ เสียงรบกวน (Noise) คืออะไร? ทำไมถึงอันตราย

เสียงรบกวน (Noise) คืออะไร?

            ไม่ว่าจะเดินทางไปไหน หรืออาศัยอยู่ในบ้านเราก็จะได้ยินเสียงรบกวนตลอดเวลา แม้กระทั้งตอนนอนหลับ ถ้าเป็นข้างนอกก็จะเป็นเสียงรถราที่วิ่งอยู่บนถนน หรือเสียงลมพัดที่แผ่วเบาก็เป็นเสียงรบกวน หากอยู่ภายในบ้าน เสียงพัดลมแอร์หรือเสียงต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น ก็ย่อมเป็นเสียงรบกวนทั้งสิ้น แล้วเสียงรบกวนที่ดังขนาดไหนถึงเป็นอันตรายและก่อให้เกิดความรำคาญ เดี๋ยวมาศึกษากันดีกว่าครับ

อันตรายที่เกิดจากเสียง มีอะไรบ้าง ?

            เสียงดัง ก็คือเสียงที่มีความดังตามชื่อเรียกของมันเลยนั่นล่ะครับ จนอาจก่อให้เกิดอันตรายต่อระบบการได้ยินหรือหูของเรานั่นเองครับ ถ้าอ้างอิงด้วยกฎหมายแรงงานที่ได้ระบุให้ต้องมีการควบคุมระดับเสียงในการทำงาน ที่ลูกจ้างต้องได้รับเฉลี่ยตลอดเวลาการทำงานในแต่ละวัน หรือ TWA (Time Weighted Average) ที่ไม่ให้มีความดังตามที่มาตราฐานได้กำหนดไว้ในกฎกระทรวง

            เสียงที่เป็นอันตราย โดยที่องค์การอนามัยโลกได้มีการกำหนดเรื่องของเสียงดังว่า เสียงที่เป็นอันตราย หมายถึงเสียงที่มี “ความดังเกิน 85dBA” ที่ทุกความถี่ ส่วนใหญ่พบว่าโรงงานอุตสาหกรรมมีระดับเสียงที่ดังเกิน 85dBA เป็นจำนวนมากซึ่งเสียงที่ดังเกินแบบนี้จะสามารถก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพทางจิตใจและร่างกายของผู้ฟังที่ได้ยินเสียงเป็นเวลานาน

            เสียงรบกวน (Noise) หมายถึง ระดับเสียงที่ผู้ฟังไม่ต้องการที่จะได้ยินหรือเสียงที่ไม่พึงประสงค์ เพราะจะส่งผลกระทบต่ออารมณ์และความรู้สึกได้ เสียงรบกวนถือได้ว่าเป็นมลภาวะทางเสียงอีกอย่างหนึ่ง (Noise Pollution) แม้จะไม่เกินเกณฑ์ความดังที่เป็นอันตรายที่ได้กำหนดไว้ แต่ก็เป็นเสียงรบกวนที่สามารถส่งผลต่าง ๆ ต่อผู้ฟังได้ การใช้ความรู้สึกในการวัดความดังของเสียงเป็นอะไรที่ยาก เพราะเราจะไม่รู้ว่าเสียงที่ได้ยินเป็นเสียงรบกวนหรือไม่ เช่น เสียงดนตรีที่ดังเวลาที่เราเดินผ่าน งานอีเว้นท์เวลาที่เราเดินผ่านในห้างสรรพสินค้า เราจะรู้สึกถูกรบกวนอยู่บางครั้ง เป็นต้น แต่ในสถานที่ที่ต้องการความสงบ เช่น ห้องสมุด เสียงพูดคุยตามปกติที่มีความดังประมาณ 50dBA ก็ถือว่าเป็นเสียงที่รบกวนเราได้ เพราะว่าเวลาเราอยู่ในห้องสมุดบรรยากาศจะเงียบมาก ๆ เนื่องจากเราต้องใช้สมาธิในการอ่านหนังสือใช่ไหมครับ ทำให้เสียงแค่นิดหน่อยก็สามารถเป็นเสียงรบกวนได้แล้วครับ

ที่มาของเสียงรบกวน มีอะไรบ้าง ?

            เนื่องจากเสียงนั้นใช้ตัวกลางในการเดินทาง เช่น อากาศ ของแข็ง ของเหลว ซึ่งในส่วนของเหลวนั้น เราไม่สามารถเข้าไปอาศัยอยู่ได้จึงต้องตัดตัวกลางตรงนี้ทิ้งไป ก็เหลือแต่เสียงรบกวนที่เดินทางผ่านอากาศ และเสียงรบกวนที่เดินทางผ่านของแข็งนั่นก็คือโครงสร้างอาคารต่าง ๆ นั่นเอง และทั้ง 2 ตัวกลางนี้ก็คือที่มาของเสียงรบกวน เราก็จะแบ่งออกได้เป็น 2 ที่คือ เสียงรบกวนจากด้านนอกอาคาร และเสียงรบกวนจากภายในอาคาร

            เสียงรบกวนจากด้านนอก โดยส่วนใหญ่แล้วเสียงรบกวนนี้ก็จะเกิดจากสภาพแวดล้อมต่าง ๆ เช่น เสียงรถวิ่งบนท้องถนน เสียงเครื่องจักรก่อสร้าง เสียงจากธรรมชาติ ฝนตก ฟ้าร้อง ลมพายุ เสียงนก เสียงจิ้งหรีด หรือสัตว์ชนิดต่าง ๆ

            เสียงรบกวนจากภายใน คือเสียงที่ให้ความดังเกินกว่าที่เรายอมรับได้ เช่น เสียงพัดลม เสียงแอร์เครื่องปรับอากาศ เสียงคนเดิน เสียงพูดคุย เสียงของวัสดุเครื่องใช้ไฟฟ้าต่าง ๆ

Noise มีผลต่อระบบเสียง อย่างไร ?

            โดยพื้นฐานแล้วการออกแบบระบบเสียงไม่ว่าจะเป็นระบบเสียงห้องประชุม ระบบเสียงร้านอาหาร ระบบเสียงร้านกาแฟ หรือระบบเสียงกลางแจ้ง ล้วนต้องคำนึงถึงเรื่องของเสียงรบกวนทั้งสิ้น เพราะหากออกแบบระบบเสียงไปแล้วเบากว่าหรือเท่ากับเสียงรบกวนหรืออาจจะออกแบบระบบเสียงดังกว่าแค่นิดหน่อย ความคมชัดของเสียงที่ได้ยินก็จะขาดหายไป

            ฉะนั้นการออกแบบระบบเสียงจึงจำเป็นต้องรู้เสียงรบกวน (Noise Floor) เพื่อจะได้ออกแบบระบบเสียงให้ดังกว่าเสียงรบกวนอย่างน้อย 10dB เพื่อที่จะให้ได้ยินเสียงจากระบบเสียงยังคงชัดเจนอยู่

            หากเป็นการออกแบบระบบเสียงในห้องประชุม เราควรจัดการเรื่องของเสียงรบกวนให้อยู่ในระดับความดังที่เหมาะสม เช่นเสียงเครื่องปรับอากาศไม่ควรมีความดังเกิน 50dB

            ระบบเสียงร้านอาหารก็ควรคำนึงถึงเสียงพูดของคนที่เข้ามานั่งพูดคุยในร้าน ต้องประเมินให้ได้ว่าเสียงรบกวนทั้งจากเครื่องปรับอากาศและเสียงลูกค้าที่มานั่งนั้นดังเท่าไหร่ จำเป็นต้องออกแบบระบบเสียงที่สามารถเปิดให้ได้ยินชัดเจนได้ โดยไม่รู้สึกว่าเกิดความน่ารำคาญ

            อุปกรณ์เครื่องเสียงที่เลือกนำมาใช้งานนั้น ควรเป็นอุปกรณ์ที่มีคุณภาพได้มาตรฐาน ให้คุณภาพเสียงที่ดี ไม่ใช้ให้ได้แค่ความดัง ไม่เช่นนั้นเสียงที่ได้ยินจากระบบเสียงก็จะเป็นเสียงรบกวนกลายเป็นมลพิษทางเสียงไปโดยปริยาย

“เรามาดูมาตรฐานและกฎหมายเสียงดังในที่ทำงานกันบ้างดีกว่าครับ”

กฎกระทรวงกำหนดมาตรฐานในการบริหารและการจัดการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงานเกี่ยวกับความร้อน แสงสว่าง และเสียง พ.ศ. 2549

  • ข้อ 8 นายจ้างต้องควบคุมระดับเสียงที่ลูกจ้างได้รับเฉลี่ยตลอดเวลาการทำงานในแต่ละวัน (Time Weighted Average-TWA) มิให้เกินมาตรฐานที่กำหนดไว้ในตารางที่ 6 ท้ายกฎกระทรวงนี้
  • ข้อ 9 ในบริเวณสถานประกอบกิจการที่มีระดับเสียงกระทบหรือเสียงกระแทก (Impact or Impulse Noise) เกินหนึ่งร้อยสี่สิบเดซิเบลเอ หรือมีปริมาณเสียงสะสมของเสียงกระทบหรือเสียงกระแทกเกินมาตรฐานที่กำหนดไว้ในตารางที่ 6 ท้ายกฎกระทรวงนี้ นายจ้างต้องให้ลูกจ้างหยุดทำงานจนกว่าจะได้ปรับปรุงหรือแก้ไขระดับเสียงหลักเกณฑ์และวิธีการตรวจวัดระดับเสียงกระทบหรือเสียงกระแทก ให้เป็นไปตามที่อธิบดีประกาศกำหนด
  • ข้อ 10 ภายในสถานประกอบกิจการที่สภาวะการทำงานมีระดับเสียงที่ลูกจ้างได้รับเกินมาตรฐานที่กำหนดในข้อ 8 หรือข้อ 9 ให้นายจ้างดำเนินการปรับปรุงหรือแก้ไขสิ่งที่เป็นต้นกำเนิดของเสียงหรือทางผ่านของเสียงหรือการบริหารจัดการเพื่อให้มีระดับเสียงที่ลูกจ้างได้รับอยู่ไม่เกินมาตรฐานที่กำหนดในกรณียังดำเนินการปรับปรุงหรือแก้ไขตามวรรคหนึ่งไม่ได้ นายจ้างต้องจัดให้ลูกจ้างสวมใส่อุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัยส่วนบุคคลตามที่กำหนดไว้ในหมวด 4 ตลอดเวลาที่ทำงาน เพื่อลดเสียงให้อยู่ในระดับที่ไม่เกินมาตรฐานที่กำหนดไว้ในข้อ 8 หรือข้อ 9
  • ข้อ 11 ในบริเวณที่มีระดับเสียงเกินมาตรฐานที่กำหนดในข้อ 8 หรือข้อ 9 นายจ้างต้องจัดให้มีเครื่องหมายเตือนให้ใช้อุปกรณ์คุ้มครองความปลอดภัยส่วนบุคคลติดไว้ให้ลูกจ้างเห็นได้โดยชัดเจน
  • ข้อ 12 ในกรณีที่สภาวะการทำงานในสถานประกอบกิจการมีระดับเสียงที่ลูกจ้างได้รับเฉลี่ยตลอดระยะเวลาการทำงานแปดชั่วโมงตั้งแต่แปดสิบห้าเดซิเบลเอขึ้นไป ให้นายจ้างจัดทำโครงการอนุรักษ์การได้ยินในสถานประกอบกิจการตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่อธิบดีประกาศกำหนด

ประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง มาตรการคุ้มครองความปลอดภัยในการประกอบกิจการโรงงานเกี่ยวกับสภาวะแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ.2546

  • ข้อ 8 ผู้ประกอบกิจการโรงงานต้องควบคุมมิให้บริเวณปฏิบัติงานในโรงงานมีระดับเสียงเกินกว่ามาตรฐานที่ได้กำหนดไว้ในตารางท้ายหมวดนี้
  • ข้อ 9 ห้ามมิให้บุคคลเข้าไปในบริเวณที่มีเสียงดังเกินกว่า 140 เดซิเบล
  • ข้อ 10 บริเวณปฏิบัติงานที่มีระดับเสียงเกินกว่ามาตรฐานตามข้อ 8 ผู้ประกอบกิจการโรงงานต้องปิดประกาศเตือนให้ทราบถึงบริเวณที่มีเสียงดังเกินมาตรฐานที่กำหนด

การป้องกันและลดความดังเสียง

ควบคุมจากแหล่งกำเนิดเสียง

            วิธีนี้ก็คือเราสามารถควบคุมได้ตั้งแต่ต้นเหตุโดยสามารถทำได้ดังนี้

  • การเลือกใช้อุปกรณ์ เครื่องมือ ควรเลือกประเภทที่มีเสียงดังน้อยกว่า เช่น การใช้เครื่องปั๊มโลหะที่เป็นระบบไฮดรอลิกแทนเครื่องที่ใช้ระบบกล
  • การออกแบบอุปกรณ์ เครื่องมือ หรือเครื่องจักรให้มีการทำงานที่ลดความดังของเสียงลง
  • การหาอุปกรณ์ที่สามารถมาปิดบังเครื่องจักร โดยการนำวัสดุซับเสียงมาบุลงในโครงสร้าง ที่จะมาใช้บัง หรือครอบที่ตัวเครื่องจักร
  • การเปลี่ยนกระบวนการผลิตที่ไม่ทำให้เกิดเสียง หรือลดเสียงได้ให้มีความดังน้อยลงกว่าเดิม
  • การติดตั้งเครื่องจักรให้วางอยู่ในตำแหน่งที่มั่นคง เนื่องจากเสียงเกิดจากการสั่นสะเทือนของเครื่องจักร และการใช้อุปกรณ์ที่ป้องกันการสั่นสะเทือนจะช่วยลดเสียงดังได้

การควบคุมที่ทางผ่านของเสียง

            สามารถแก้โดยวิธีการดังนี้

  • การทำห้อง หรือทำกำแพงกั้นทางเดินของเสียง โดยออกแบบวัสดุซับเสียง หรือเก็บเสียงที่สัมพันธ์กับความถี่ของเสียง
  • เพิ่มระยะห่างระหว่างเครื่องจักร และผู้รับเสียง ทำให้มีผลต่อระดับเสียง โดยระดับเสียงนั้นจะลดลง 6dBA ในทุก ๆ ระยะห่างที่เพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า
  • การปลูกต้นไม้ยืนต้นที่มีใบดกบริเวณริมรั้ว ช่วยในการลดเสียงได้ การปลูกต้นไม้ก็สามารถช่วยได้เหมือนกันครับ

การควบคุมการรับเสียงที่ผู้ฟัง

            การแก้ปัญหาด้วยวิธีนี้จะเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ โดยการใช้อุปกรณ์ป้องกันที่หู เพื่อลดความดังของเสียง โดยมีด้วยกัน 2 แบบคือ

  • ที่อุดหู ที่ทำด้วยยางหรือพลาสติก ใช้สอดเข้าไปในช่องหู จะสามารถลดระดับความดังของเสียงได้ 10 – 20dBA เป็นการลดระยะเวลาในการรับเสียงของผู้ฟังที่อยู่ในบริเวณที่มีเสียงดังเกินมาตราฐานได้
  • แบบครอบหู จะเป็นแบบปิดหู และกระดูกรอบ ๆ ใบหูทั้งหมดเอาไว้ สามารถลดระดับความดังของเสียงได้ถึง 20 – 40dBA เลยถือว่าลดได้เยอะพอสมควรเลยครับ

เกณฑ์กำหนดของระดับเสียงที่เป็นอันตราย

            กรมแรงงาน กระทรวงมหาดไทยได้กำหนดมาตรฐานของระดับเสียงในสถานประกอบการต่าง ๆ ไว้ดังนี้คือ

  • ได้รับเสียงไม่เกินวันละ 7 ชั่วโมง ต้องมีระดับเสียงติดต่อกันไม่เกิน 91dBA
  • ได้รับเสียงวันละ 7 – 8 ชั่วโมง ต้องมีระดับเสียง ติดต่อกันไม่เกิน 90dBA
  • ได้รับเสียงเกินวันละ 8 ชั่วโมง ต้องมีระดับเสียง ติดต่อกันไม่เกิน 80dBA
  • นายจ้างให้ลูกจ้างทำงานในที่ ๆ มีระดับเสียงเกิน 140dBA ไม่ได้

องค์การอนามัยโลกได้กำหนดว่าระดับเสียงที่ดังเกินกว่า 85dBA ถือว่าเป็นอันตรายต่อมนุษย์

การทำงานในที่มีเสียงดังเกิน 85dBA เป็นเวลาติดต่อกันมากกว่า 8 ชั่วโมงต่อวัน นาน นับปีจะมีผลต่อมนุษย์ดังนี้

  • ผลเสียทางกายภาพ ผลเสียโดยตรงต่อประสาทหู ก่อให้เกิดการสูญเสียการได้ยินทั้งแบบชั่วคราวและแบบถาวร จนกลายเป็นความพิการได้
  • ผลเสียทางจิตใจ เกิดความเครียดเป็นโรคจิต โรคประสาทได้ การเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์ มีผลทำให้เกิดโรคกระเพาะ ความดันโลหิตสูง
  • ผลเสียต่อประสิทธิภาพการทำงาน เสียงที่ดังมาก ๆ จะรบกวนการทำงาน ทำให้เสียสมาธิ เป็นเหตุให้เกิดอุบัติเหตุได้ และยังลดประสิทธิภาพการทำงานอีกด้วย

สรุป :

            ดังนั้นการที่เราได้ยินเสียงที่ไม่พึงประสงค์กับหูเรา จะส่งผลเสียกับตัวเราอย่างมาก เพราะฉะนั้นเพื่อไม่ให้เกิดอันตรายต่อตัวเองก็ควรมีการป้องกันตามที่ได้แนะนำไปนะครับ สามารถช่วยได้ไม่มากก็น้อยแน่นอนครับ

หรือ สนใจสอบถาม คอร์สเรียนและหลักสูตรต่าง ๆ สามารถสอบถามได้ที่

     โทรศัพท์ 02-550-6340, 064-198-2499

      Line : @liveforsound

      Email : [email protected]

บทความโดย: วิชยุตม์ เตชะเกิดกมล (Content Creator)

รับติดตั้งระบบเสียง ห้องประชุม ร้านอาหาร ผับบาร์ ห้องคาราโอเกะ ห้องจัดเลี้ยง ระบบเสียงสนามกีฬา ระบบเสียงร้านกาแฟ สามารถปรึกษาทางทีมงาน LIVE FOR SOUND ได้ พร้อมรับตรวจเช็ค แก้ไขปัญหาระบบเสียงทุกรูปแบบ โดยทีมงานมืออาชีพ ที่มีประสบการณ์มากกว่า 15 ปี

สอบถามข้อมูลการเรียนได้ทาง