Damping Factor (แดมปิ้ง เฟคเตอร์) คืออะไร?

Damping Factor

Damping Factor (แดมปิ้ง เฟคเตอร์) คืออะไร?

หลาย ๆ คนอาจจะได้เห็นคำว่า Damping Factor (แดมปิ้ง เฟคเตอร์) อยู่ในสเปคของเพาเวอร์แอมป์ทุกตัว ในบทความนี้เราจะมาทำความเข้าใจกับคำว่า Damping Factor ให้กันให้มากขึ้น

                Damping Factor ในส่วนของระบบเสียงนั้นหมายถึง ค่าความสามารถในการหยุดของดอกลำโพง โดยอ้างอิงจาก อัตราส่วนค่าความต้านทานของลำโพงกับความต้านทานขาออกของเพาเวอร์แอมป์ ซึ่งค่า Damping Factor นี้ มีส่วนเกี่ยวข้องที่จะทำให้ดอกลำโพงหยุดหลังจากที่ปล่อยเสียงออกไปแล้ว สำหรับดอกลำโพงเสียงแหลมและเสียงกลางนั้นไม่ค่อยเห็นผลเท่าไหร่เพราะพลังงานที่ปล่อยออกไปไม่เยอะมาก แต่สำหรับดอกลำโพงเสียงต่ำที่มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางที่ใหญ่และพลังงานของเสียงต่ำที่มีพลังงานสูงนั้น ต้องใช้ค่า Damping Factor ของเพาเวอร์แอมป์ที่เยอะขึ้นกว่าเสียงแหลม หากเปรียบเทียบสัญญาณเสียงกับรถแล้ว เสียงแหลมเปรียบได้กับรถมอเตอร์ไซค์ เสียงต่ำคือรถบรรทุก หากวิ่งมาในความเร็วที่เท่ากัน และใช้ขนาดคุณภาพของเบรกเท่ากัน รถบรรทุกจะใช้ระยะเบรกเยอะกว่า เพราะมีน้ำหนักตัวรถที่มากกว่า ฉะนั้น หากอยากให้รถบรรทุกมีระยะเบรกเท่ากับมอเตอร์ไซค์ ก็ต้องใช้กำลังพร้อมคุณภาพของเบรกที่ดีมากขึ้น หากอยากให้ดอกลำโพงเสียงต่ำหยุดขยับไวขึ้น เพาเวอร์แอมป์ที่ใช้ก็ควรจะมีค่า DF ที่มากต่อจากนี้เราจะเรียกค่า Damping Factor ว่าค่า DF นะครับ

ปัจจัยที่มีผลต่อการหยุดขยับของดอกลำโพง

                ในสเปกเพาเวอร์แอมป์ที่เราใช้งานทุกตัวนั้น จะบอกค่า DF มาให้ ยกตัวอย่างเช่น Damping Factor > 400 เป็นต้น

                ค่า DF นั้นมีสูตรในการหาก็คือ ความต้านทานของลำโพงหารด้วยค่าความต้านทานขาออกของเพาเวอร์แอมป์

                เราก็จะได้ค่า DF ซึ่งค่า DF หากมีค่ามากกว่า 20 นั้น ถือว่าเป็นที่ยอมรับได้ และได้มากกว่า 50 ถือว่าดีมีความเที่ยงตรงสูง

                เคยสังเกตกันหรือเปล่าครับว่า เวลาเราต่อลำโพงเสียงต่ำขนานกันหลาย ๆ ดอก จะรู้สึกว่าเสียงย่านความถี่ต่ำนั้นไม่มีความชัด ออกจะเบลอ ฟังไม่เป็นตัวโน้ตเท่าไหร่ เหยียบกระเดื่องไปแล้วเสียงไม่กระชับ สิ่งที่กล่าวมานั้นเป็นผลมาจากค่าความต้านทานรวมที่ลดต่ำลงของ Output ทำให้ค่า DF นั่นลดตามลงไปด้วย ขนาดของสายลำโพงและความยาวก็มีผลต่อการหยุดของดอกลำโพงเช่นกัน 

                ถ้าจะต่อขนานลำโพงกันหลาย ๆ ดอก แต่ขนาดของสายลำโพงเท่าเดิม มันมีผลต่อค่า DF แน่นอน เมื่อเป็นเช่นนี้ เราก็ควรจะใช้สายที่สั้นลง หรือไม่ก็สายที่มีขนาดใหญ่ขึ้น สิ่งที่เห็นได้ชัดเจนเลยเวลาเราต่อลำโพงขนานกันเหลือ 2 โอมห์ และเพาเวอร์แอมป์ที่ใช้มีค่า DF ต่ำ ก็คือ เสียงหอนในย่านความถี่ต่ำประมาณ 50Hz – 63Hz หลายคนน่าจะเคยเจอ เวลาเปิดเสียงกระเดื่องออกลำโพง ก็จะมีเสียงหอนของย่านความถี่ต่ำออกมา แล้วเรามักจะใช้ EQ ในการคัทเอาย่านความถี่ต่ำนี้ออก 

                เสียงกระเดื่องของเราก็จะขาดน้ำหนักและไม่มีพลัง ซึ่งสิ่งที่กล่าวมา บางครั้งมันไม่ได้เกิดจากความถี่ที่เกินมาหรือเร่งเกนมากจนเกินไป แต่มันเกิดจากดอกลำโพงของเรานั้นขยับตลอดเวลา อันเนื่องมาจากค่า Damping Factor ที่ต่ำลง ลองเปลี่ยนเป็นโหลดเหลือ 4 โอมห์ดูครับ โดยที่ยังไม่ต้องแก้ที่ EQ หรือ Gain เสียงหอนของย่านความถี่ต่ำนั้นอาจจะหายไปก็ได้ อันนี้จากประสบการส่วนตัวนะครับที่เคยเจอมา

ยกตัวอย่างวิธีคำนวณหาค่า DF

                ถ้าเรามีลำโพงที่มีความต้านทาน 8 โอมห์ และต่อเข้ากับเพาเวอร์แอมป์ที่ในสเปคบอกค่า DF > 400 แต่เพาเวอร์แอมป์สามารถรับโหลดต่ำสุดได้ 2 โอมห์ ก็มาหาค่าจากสมการ DF = 2/400 จะได้ค่าความต้านทานขาออกของเพาเวอร์แอมป์ = 0.005  แน่นอนว่าปัจจัยอีกอย่างที่ต้องนำมาคำนวณคือ ค่าความต้านทานในสายลำโพง เราก็จะต้องหาค่า DF จากสูตร

              เราต้องรู้ค่าความต้านทานในสายลำโพงที่เรานำมาใช้งานแล้วเราจะได้ค่า DF จริง ๆ เมื่อมีความต้านทานในสายลำโพงเข้ามาเกี่ยวข้อง สมมุติว่าเราใช้สายขนาดหน้าตัด 2.5 sq.mm. ที่มีค่าความต้านทานต่อเมตรเท่ากับ 0.005 และเราต้องการต่อลำโพงขนานกัน 2 โอมห์ เราก็นำตัวเลขต่าง ๆ มาใส่ในสมการ        

              ก็จะได้ค่า DF เท่ากับ 133.33 นี่คือเราต่อลำโพง 8 โอมห์ขนานกันจนเหลือ 2 โอมห์และความยาวสายแค่ 1 เมตร ทำให้ได้ค่า DF ที่สูง ถ้าเราใช้สายลำโพงยาว 25 เมตรหล่ะ ลองคำนวณดูนะครับว่า DF จะเหลือเท่าไหร่ โดยนำความยาวของสายเข้าไปคูณกับความต้านทานของสายด้วย

              ค่า DF เหลือแค่ 7.84 เท่านั้นเอง ซึ่งต่ำกว่าค่าที่ยอมรับได้คือ 20 ดังนั้นหากเราต้องการต่อลำโพงทั้งหมดให้เพาเวอร์แอมป์ขับที่ 2 โอมห์จริง ๆ เราต้องเพิ่มขนาดความใหญ่ของสายอีกเท่าตัวคือเป็น 5 sq.mm หรือไม่หากใช้สายเดิม ก็ต้องลดขนาดความยาวของสายลงมาให้เหลือ 9.5 เมตร ถึงจะได้ค่า DF = 20 ถ้าเรายืนยันว่าจะใช้สายขนาดและความยาวเท่าเดิม นั่นหมายความว่า เราไม่สามารถต่อโหลดถึง 2 โอมห์ได้ เราสามารถต่อโหลดได้แค่ 8 โอมห์ กับขนาดของสายลำโพง 2.5 sq.mm. ถ้าเรารู้จักวิธีคำนวณพวกนี้แล้ว เราก็จะสามารถออกแบบระบบเสียงของเราได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุดอย่างแน่นอน สังเกตว่าลำโพงที่มีแอมป์ในตัวจะได้เปรียบเรื่องนี้เพราะสายลำโพงสั้นมาก

หากเราต้องการต่อลำโพงขนานกันหลาย ๆ ดอก เพื่อประหยัดจำนวนเพาเวอร์แอมป์นั้น เราควรหาเพาเวอร์แอมป์ที่มีค่า DF สูง ๆ หรือใช้สายลำโพงเบอร์ใหญ่และสั้นที่สุด เพื่อให้ดอกลำโพงของเรานั้นตอบสนองตามสัญญาณเสียง แค่นี้ก็สามารถทำให้เสียงต่ำกระชับไม่เบลอได้ แต่แน่นอนว่า ใช้โหลดความต้านทานปกติของลำโพงน่าจะเป็นอะไรที่ดีที่สุด แต่ก็อย่างว่าละครับ มันใช้งบประมาณมากทีเดียว ขอให้มีความสุขกับการทำระบบเสียงทุกท่านนะครับ สามารถเรียนรู้เพิ่มเติมได้ใน หลักสูตร SOUND SYSTEM ENGINEER

ผิดพลาดประการใด ก็ขออภัยมา ณ ที่นี่ด้วยครับ

หมายเหตุ : บทความนี้เป็นบทความที่เขียนจากประสบการณ์ในการทำงานส่วนตัวของผู้เขียนนะครับ

 ใครที่สนใจอยากอ่านบทความเพิ่มเติม เรามีบทความดีๆ แนะนำดังนี้

หรือสนใจสอบถามคอร์สเรียนและหลักสูตรต่าง ๆ สามารถสอบถามได้ที่

     โทรศัพท์ 02-550-6340, 064-198-2499

      Line : @liveforsound

      Email : [email protected]

บทความโดย: ทรงพล แจ่มแจ้ง (SOUND ENGINEER)

รับติดตั้งระบบเสียง ห้องประชุม ร้านอาหาร ผับบาร์ ห้องคาราโอเกะ ห้องจัดเลี้ยง ระบบเสียงสนามกีฬา ระบบเสียงร้านกาแฟ สามารถปรึกษาทางทีมงาน LIVE FOR SOUND ได้ พร้อมรับตรวจเช็ค แก้ไขปัญหาระบบเสียงทุกรูปแบบ โดยทีมงานมืออาชีพ ที่มีประสบการณ์มากกว่า 15 ปี

แหล่งข้อมูลเพิ่มเติม 

สอบถามข้อมูลการเรียนได้ทาง