5 วิธีปรับเครื่องเสียงกลางแจ้ง ให้เสียงดีมีคุณภาพ

บทความ 5 วิธี ปรับเครื่องเสียงกลางแจ้ง ให้เสียงดีมีคุณภาพ

วิธีปรับเครื่องเสียง กลางแจ้ง

การปรับเครื่องเสียงกลางแจ้งของเราให้เสียงดีนั้น หลายคนอาจจะสับสนว่าปรับยังไงให้เสียงดี เพราะสินค้าเครื่องเสียงกลางแจ้งที่ซื้อมานั้น ราคาค่อนข้างสูงทีเดียว และอุปกรณ์เครื่องเสียงกลางแจ้งนั้น จำเป็นต้องมีความเข้าใจในวิธีการปรับงานด้วย เพื่อที่จะสามารถรีดศักยภาพอุปกรณ์ออกมาให้เสียงดีที่สุด การปรับแต่งเสียงนั้นมีขั้นตอนและต้องใช้อุปกรณ์อะไรบ้าง มาติดตามกันเลยครับ

เลือกอุปกรณ์สินค้าที่น่าเชื่อถือมีคุณภาพ

ลำดับแรกของการปรับเครื่องเสียงกลางแจ้งนั้น คือ การปรับความคิดของเราให้เลือกใช้อุปกรณ์ที่มีคุณภาพตามงบประมาณที่มี อุปกรณ์เครื่องเสียงนั้นโดยส่วนใหญ่แล้วคุณภาพจะตามราคาเสมอ ควรที่จะเลือกซื้ออุปกรณ์ที่เป็นยี่ห้อที่น่าเชื่อถือ อย่างพวกสินค้าแบรนด์เนมที่มีขายกันทั่วโลก อย่างน้อยก็สามารถการันตีเรื่องคุณภาพเสียงไปได้ไม่มากก็น้อย ส่วนจะใช้ยี่ห้อไหนนั้นอยูที่ความชอบเป็นหลัก

คุณภาพเสียงที่ดีนั้นมักจะมาพร้อมกับราคาที่สูงตามมา ทั้งในเรื่องของ เทคโนโลยี คุณภาพของวัสดุที่นำมาใช้ อีกทั้งเรื่องที่สำคัญที่มองข้ามไม่ได้เลยก็คือ การเลือกสายสัญญาณที่มีคุณภาพ การลงทุนกับสายสัญญาณเสียงที่มีคุณภาพนั้น ถือเป็นเรื่องที่ควรทำเป็นอย่างยิ่ง แต่ถ้าหากลงทุนเครื่องเสียงราคาหลักแสนแล้วลงทุนสายระดับไฮเอนด์ราคาหลักล้าน หรือลงทุนเครื่องเสียงหลักล้าน แต่ใช้สายราคาถูก เมตรละหลักสิบ ก็ไม่สมควรเช่นเดียวกัน

ฉะนั้นเรื่องสำคัญในการปรับเครื่องเสียงกลางแจ้งอันดับแรกคือปรับปรุงอุปกรณ์ให้เหมาะสมกับงบประมาณและคุณภาพเสียงที่ต้องการ

ต้องรู้จักระดับของสัญญาณเสียง

ระดับของสัญญาณเสียงนั้นเป็นสิ่งสำคัญที่คนเล่นเครื่องเสียงต้องรู้ เพราะหากเราจัดลำดับของระดับสัญญาณเสียงผิด เสียงที่ได้ก็จะไม่มีคุณภาพ เกิดอาการเสียงแตกพร่า และมีเสียงรบกวนตามมา

ระดับสัญญาณเสียงนั้นแบ่งออกได้เป็น 3 ระดับดังนี้

2.1 ระดับสัญญาณไมโครโฟน (Mic Level) เป็นระดับสัญญาณเสียงต่ำสุดหรือเบาที่สุดนั่นเอง ระดับความแรงนั้นขึ้นอยู่กับค่าความไวของไมโครโฟน เช่น -50dBv ค่าติดลบนี้แปลงเป็นสัญญาณแรงดันไฟฟ้า จะอยู่ที่ 0.00316 โวลต์ จะเห็นว่าตัวเลขต่ำมาก แทบจะไม่ได้ยินเสียงด้วยซ้ำ จึงจำเป็นต้องนำสัญญาณไมโครโฟนนี้มาขยายเพื่อให้ได้ระดับสัญญาณที่เหมาะสม อยู่ในระดับแรงดัน 1.23 โวลต์ ตัวขยายไมโครโฟนนี้เราจะเรียกว่า Pre Mic (พรีไมค์) ที่เราใช้งานกันอยู่นั่นเอง ซึ่งสัญญาณไมโครโฟนนี้จะเป็นสัญญาณที่ออกจากตัวไมโครโฟน หรือเครื่องดนตรีที่มีตัวรับเสียง เช่น กีต้าร์ไฟฟ้า กีต้าร์โปร่ง และเบส หรือพวกสัญญาณ HI-Z ทั้งหลาย แต่ต้องใช้ DI เพื่อแปลงสัญญาณให้เป็นสัญญาณบาลานซ์ก่อน เพื่อลดเสียงรบกวนในระบบในกรณีที่ต้องเดินสายสัญญาณไกล ๆ

2.2 ระดับสัญญาณไลน์ (Line Level) ระดับสัญญาณไลน์นี้คือสัญญาณที่ออกจากเครื่องเสียงต่าง ๆ ที่ไม่ใช่จากข้อ 2.1 Pre Mic (พรีไมค์) ก็คือหนึ่งในอุปกรณ์ที่ปล่อยระดับสัญญาณไลน์ หลายคนอาจจะงงว่า พรีไมค์ปล่อยระดับสัญญาณไลน์ได้ยังไง เพราะไมโครโฟนไปต่อเข้าพรีไมค์ มันต้องเป็นสัญญาณไมค์สิ เราต้องแยกให้ออกกับระดับสัญญาณเสียง กับเสียงที่ได้ยินออกให้ได้เสียก่อน เพราะพรีไมค์ทำหน้าที่ขยายสัญญาณไมโครโฟนให้เป็นสัญญาณไลน์ ฉะนั้นระดับเสียงไมโครโฟนที่ออกจากเครื่องพรีไมค์นั้นจึงเป็นระดับสัญญาณไลน์ เพราะสัญญาณไมโครโฟนโดนขยายมาแล้ว

2.3 ระดับสัญญาณลำโพง (Speaker Level) คือการนำสัญญาณไลน์มาขยายให้สูงที่สุดตามความต้องการ เพื่อป้อนสัญญาณเข้าสู่ลำโพง กำลังขยายจะมากหรือน้อยก็จะขึ้นอยู่กับกำลังวัตต์ของเพาเวอร์แอมป์ ซึ่งระดับสัญญาณลำโพงนี้จะเป็นระดับสัญญาณที่ออกจากเพาเวอร์แอมป์เท่านั้น กำลังขยายนั้นอยู่ในระดับไฟฟ้าแรงดันที่สูงกว่าสัญญาณไลน์มากทีเดียว จึงต้องระวังห้ามนำระดับสัญญาณลำโพงไปเข้าช่องสัญญาณไลน์หรือช่องสัญญาณไมค์เป็นอันขาด อาจจะทำให้อุปกรณ์เครื่องเสียงเกิดความเสียหายได้

เชื่อมต่อระบบให้ถูกต้อง

การต่อระบบที่ถูกต้องในระบบเสียงนั้น นอกจากเรื่องระดับสัญญาณเสียงแล้ว รูปแบบสัญญาณเสียงก็เป็นสิ่งสำคัญอีกเช่นเดียวกัน รูปแบบสัญญาณเสียงนั้นมี 2 รูปแบบด้วยกันคือ แบบบาลานซ์ (Balance) และแบบอันบาลานซ์ (Unbalance) เครื่องเสียงกลางแจ้งนั้นควรทำรูปแบบสัญญาณเสียงให้เป็นแบบ บาลานซ์ (Balance) ทั้งหมด เพื่อขจัดเสียงรบกวนในระบบทั้งหมด

การใช้สัญญาณรูปแบบบาลานซ์นั้น ข้อดีคือให้ความดังของเสียงที่เพิ่มขึ้นและให้เสียงที่สะอาด เพราะระดับสัญญาณแบบบาลานซ์นั้นอยู่ในระดับ +4dBu ส่วนระดับสัญญาณแบบอันบาลานซ์ (Unbalance) อยู่ที่ระดับ -10dBv ซึ่งต่ำกว่าแบบบาลานซ์มาก อุปกรณ์ที่จะแปลงสัญญาณให้เป็นแบบบาลานซ์ได้นั้น ต้องใช้อุปกรณ์ที่เรียกว่า DI Box ในการช่วยแปลงสัญญาณ เพียงเท่านี้ก็จะช่วยให้ระบบเสียงของเรามีคุณภาพเสียงที่ดีขึ้น

จัดระบบให้เหมาะสมกับการใช้งาน

การจัดระบบเสียงให้เหมาะสมกับการใช้งานถือเป็นเรื่องที่ละเลยไม่ได้ เพราะคือปัจจัยหลักในการทำให้ระบบเสียงของเรานั้นเสียงดี ยกตัวอย่างเช่น ต้องทำงานระบบเสียงในพื้นที่ขนาดใหญ่ประมาณ 2500 ตารางเมตร  แต่กลับนำลำโพงไปแค่ข้างละ 1 ใบ ที่ให้ความดังสูงสุดเพียง 110dB ก็จะมีความดังที่เบาไปสำหรับคนที่อยู่ด้านไกลสุด แบบนี้ความดังก็ไม่เพียงพอต่อความต้องการ ทำให้อาจจะต้องเร่งความดังเสียงขึ้นไป จนเกิดเสียงแตกพร่าได้ และอุปกรณ์อาจจะพังในที่สุด

หรือบางครั้งนำลำโพงไปมากเกินความจำเป็น หรือเลือกเพาเวอร์แอมป์ที่มีกำลังขยายสูงเกินความดังที่ต้องการ อาจจะทำให้ได้ยินเสียงรบกวนขยายออกลำโพงดังจนน่ารำคาญ การจัดระบบให้เหมาะสมคือปัจจัยหลักที่ทำให้การปรับระบบเสียงของเราทำได้ง่ายและมีเสียงที่ดียิ่งขึ้น

ใช้โปรแกรมวิเคราะห์เสียงเข้ามาช่วย

หนึ่งในตัวช่วยในการปรับระบบเสียงที่ดีที่สุดสำหรับ Sound Engineer (ซาวด์เอ็นจิเนียร์) หรือวิศวกรเสียงนั้นก็คือ โปรแกรมวิเคราะห์เสียง เพราะจะช่วยให้ Sound Engineer นั้นเห็นช่วงความถี่และเฟส (Phase) ได้ง่าย อีกทั้งยังสามารถดูระดับความดังได้ตลอด เพราะหูคนเรายิ่งฟังนาน ๆ ก็จะสูญเสียการได้ยินไปส่วนหนึ่ง การมีโปรแกรมเข้ามาช่วยนั้นจึงเป็นการดีที่จะทำให้ Sound Engineer สามารถตัดสินใจในการปรับแต่งเสียงได้ง่ายยิ่งขึ้น

สรุป :

จะสังเกตได้ว่าที่กล่าวมาทั้ง 5 ข้อนั้น ไม่มีข้อไหนที่พูดถึงเรื่องการปรับ EQ หรือการตัดครอสโอเวอร์เลย นั่นก็เพราะว่า หากเราใช้อุปกรณ์ที่เป็นมาตรฐาน ทางโรงงานผู้ผลิตจะจัดการเรื่องต่าง ๆ เหล่านี้มาให้แทบทั้งหมด และถ้าเราสามารถไล่เรียงการทำงานได้ทั้ง 5 ข้อ รับรองได้เลยว่าเครื่องเสียงของเราเสียงดีคุ้มราคาอย่างแน่นอน อาจจะมีบ้างที่ต้องปรับแต่ง EQ ในภายหลัง แต่จะมากล่าวกันในบทความต่อ ๆ ไป เนื่องจากเราคุยกันเรื่องการปรับ EQ สิ่งที่ขาดไม่ได้เลยคือการจัดการกับเครื่องดนตรี สามารถอ่านบทความเพิ่งเติมได้ที่

ใครที่สนใจอยากทำอาชีพด้าน SOUND ENGINEER สามารถเข้าไปดูรายละเอียดเพิ่มเติมตามหลักสูตรเหล่านี้ได้เลย

หรืออ่านบทความอื่น ๆ เพิ่มเติมเช่น

เลือกดูสินค้าเครื่องเสียงกลางแจ้ง

หรือ สนใจสอบถาม คอร์สเรียนและหลักสูตรต่าง ๆ สามารถสอบถามได้ที่

     โทรศัพท์ 02-550-6340, 064-198-2499

      Line : @liveforsound

      Email : [email protected]

บทความโดย: ทรงพล แจ่มแจ้ง (SOUND ENGINEER)

รับติดตั้งระบบเสียง ห้องประชุม ร้านอาหาร ผับบาร์ ห้องคาราโอเกะ ห้องจัดเลี้ยง ระบบเสียงสนามกีฬา ระบบเสียงร้านกาแฟ สามารถปรึกษาทางทีมงาน LIVE FOR SOUND ได้ พร้อมรับตรวจเช็ค แก้ไขปัญหาระบบเสียงทุกรูปแบบ โดยทีมงานมืออาชีพ ที่มีประสบการณ์มากกว่า 15 ปี

สอบถามข้อมูลการเรียนได้ทาง